MU-SDGs Case Study*

โครงการการปรับวิถีการเกษตรในพื้นชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้ดำเนินการหลัก*

ดร.ณพล อนุตตรังกูร

ส่วนงานหลัก*

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

ผู้ดำเนินการร่วม

ดร.ปิยะเทพ อาวะกุล
ดร.พรพิรัตน์ คันธธาศิริ
ดร.ปัณฑารีย์ แต้ประยูร
นายธนากร จันหมะกสิต
นางสาววิมลรัตน์ อัตถบูรณ์

ส่วนงานร่วม

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

เนื้อหา*

ความสำคัญ
บึงบอระเพ็ดเป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ สภาพภูมิประเทศของบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งมีทั้งพืชน้ำ สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า โดยเฉพาะกลุ่มนกที่มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ ส่วนชุมชนโดยรอบได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำด้วยการทำการประมง และใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาที่มีมากที่สุดจำนวน 79,858 ไร่ ซึ่งเป็นรูปแบบนาปรังที่ใช้น้ำมาก ทำให้ปริมาณน้ำบึงบอระเพ็ดลดลงอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชุมชนเกิดความขัดแย้งในการแย่งน้ำไปทำนา นอกจากนี้การทำนาปรังส่งผลให้เกิดการผลิตก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย ส่วนพืชน้ำที่เจริญเติบโตหนีน้ำไม่ทันในช่วงฤดูน้ำหลาก จะทำให้เกิดหญ้าเน่าจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน ในการนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีการผลิตก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นการทำนาปรังและน้ำท่วมวัชพืชในช่วงฤดูน้ำหลาก ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีแนวคิดในการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกด้วยการปรับวิธีการทำนาจากนาปรังเป็นนาเปียกสลับแห้งที่ใช้น้ำน้อยและปลดปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่านาปรังหลายเท่า และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้การส่งเสริมให้นำวัชพืชน้ำจากบึงบอระเพ็ดมาใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นปุ๋ยที่สร้างรายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตำบลพระนอน มีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ย ซึ่งรูปแบบที่จะออกมาขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ การดำเนินงานทั้งหมดสอดคล้องกับนโยบายของ COP28 และบึงบอระเพ็ด sandbox ที่ตั้งเป้าให้เกิด Net Zero ในปี 2573 ต่อไป

วัตถุประสงค์

1) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการปรับแนวคิดของประชาชนสู่การปรับวิถีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด

2) เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด

3) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชน้ำและการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความคืบหน้าในการดำเนินการ

โครงการอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการ โดยมีการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลวังมหากรและตำบลพระนอน และมีการสอบถามความต้องการในการขับเคลื่อน (Need Assessment) ในการทำนาและการจัดการวัชพืชน้ำบึงบอระเพ็ด มีการดูงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และการทดลองการทำนาเปียกสลับแห้งในพื้นที่บึงบอระเพ็ดจำนวน 100 ไร่ อีกด้วย 

ผลผลิตของโครงการ
1) การฝึกอบรมที่ครอบคลุมเนื้อหาเทคโนโลยีสีเขียว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDGs BCG และการปรับตัวในการทำการเกษตรในพื้นที่ชุ่มน้ำ
2) พื้นที่ต้นแบบในการทำนาเปียกสลับแห้ง และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
3) พื้นที่ต้นแบบในการผลิตปุ๋ยจากพืชน้ำบึงบอระเพ็ด และการจัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยในตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
4) ผลการคำนวณอัตราผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) ของโครงการ
5) คู่มือการขับเคลื่อนเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานในพื้นที่
 
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1) ประชาชนในพื้นที่ชุ่มน้ำมีความรู้ ความเข้าใจ และมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด
2) พื้นที่ต้นแบบในการทำนาเปียกสลับแห้งและการผลิตปุ๋ยจากพืชน้ำบึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ และขยายผลต่อในอนาคตบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ
3) ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรม
4) คู่มือการขับเคลื่อนเชิงนโยบายจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนในพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆที่มีบริบทคล้ายกับบึงบอระเพ็ด
5) ธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์สามารถกำหนดแนวทางการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสัญญาเช่าของประชาชนบึงบอระเพ็ดในอนาคตต่อไป
 
ผลการดำเนินงาน
1) ชุมชนได้มีการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการนำวัชพืชน้ำมาหมักเป็นปุ๋ยในพื้นที่ตำบลพระนอน และการทำนาเปียกสลับแห้งจำนวน 100 ไร่ ในพื้นที่ตำบลวังมหากรและตำบลทับกฤช 
2) ชุมชนมีการจัดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 2 ตำบล ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบึงบอระเพ็ดโลว์คาร์บอนตำบลวังมหากร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบึงบอระเพ็ดโลว์คาร์บอนตำบลพระนอน  และเกิดแบรนด์ “บึงบอระเพ็ดโลว์คาร์บอน” ดังรูปที่ 1
3) เกิดผลิตถัณฑ์ต้นแบบบึงบอระเพ็ดจำนวน 2 ชื้น ได้แก่ วัสดุปรับปรุงดินจากวัชพืชน้ำ และข้าวจากนาเปียกสลับแห้ง 
4) มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนและผู้ที่สนใจ
 

สิ่งที่ได้ได้ต่อยอดจากโครงการ

1) จังหวัดนครสวรรค์ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการทำนาเปียกสลับแห้ง ดังคำสั่งจังหวัดนครสวรรค์หมายเลข 03367/2567 เรื่อง “แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการทำการเกษตรด้วยการทำนาเปียกสลับแห้งในพื้นที่ต้นแบบบึงบอระเพ็ด และพื้นที่อื่นๆ จังหวัดนครสวรรค์” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการทำนาเปียกสลับแห้ง   

2) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้โครงการ “โครงการส่งเสริมการปรับวิถีการเกษตรบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์” เพื่อส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งด้วยการปรับพื้นที่และการส่งเสริมการขยายตัวเพิ่มปีละ 800 ไร่ภายใน 3 ปี

3) เครือข่ายบึงบอระเพ็ดได้มีการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อผลักดันการปรับพื้นที่การเกษตรของบึงบอระเพ็ดให้เหมาะสมกับการทำนาเปียกสลับแห้ง โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) และบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เข้ามาสนับสนุนในการเชื่อมโยงเครือข่ายกับระดับนโยบายและสนับสนุนเครื่องจักรในการทดลองใช้เครื่องมือเพื่อปรับระดับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งในแปลงทดลองของชุมชนที่ตำบลพระนอน

4) เกิดการเชื่อมโยงด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ให้กับเครือข่ายบึงบอระเพ็ดได้นำไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวในบึงบอระเพ็ด

                      รูปที่ 1 ขั้นตอนการดำเนินโครงการ

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม*

SDGs 13

เป้าประสงค์ย่อยใน SDG หลัก*

13

SDGs อื่น ๆ ที่สอดคล้อง

SDGs 2,6,17

เป้าประสงค์ย่อยใน SDG อื่นๆ

2.3, 6.3, 6.4, 6.5, 17.1
Links ข้อมูลเพิ่มเติม * 

ม.มหิดล นครสวรรค์ ร่วมเครือข่ายชุมชน ชู 3 กลยุทธ์พลิกฟื้นนาข้าวยั่งยืน
https://www.nstda.or.th/sci2pub/3-strategies-to-revive-sustainable-rice-fields/
https://op.mahidol.ac.th/ga/wp-content/uploads/twitter/news-2024-5-2-1.pdf

รายการเคลียร์คัด ชัดเจน:การขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชุ่มน้ำ
https://www.youtube.com/watch?v=aVkXHnNr-38

บึงบอระเพ็ด ช่วยลดโลกร้อนด้วยการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
https://op.mahidol.ac.th/ga/bueng-boraphet/

VDO: โครงการการปรับวิถีการเกษตรในพื้นชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
https://youtu.be/Ow3Jrap6ePI

VDO: Promoting Eco-Friendly Agricultural Practices in the Bueng Boraphet Wetlands.
https://youtu.be/lcbHgujks9Y

VDO: การเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบึงบอระเพ็ดโลว์คาร์บอน
https://youtu.be/VJzAFp8ln-M

 

MU-SDGs Strategy*

ยุทธศาสตร์ที่ 3

Partners/Stakeholders*

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จังหวัดนครสวรรค์
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
หน่วยขุดลอกและกำจัดวัชพืชบึงบอระเพ็ด
ประมงจังหวัดนครสวรรค์
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์
ส่วนการจัดสรรน้ำที่ 3 นครสวรรค์ (กรมทรัพยากรน้ำ)
องค์การบริหารส่วนตำบลพระนอนและวังมหากร
เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำบึงบอระเพ็ด
ประชาชนรอบบึงบอระเพ็ด

ภาพประกอบ (3-5 ภาพ)*

Key Message*

การปรับวิถีการเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การทำนาเปียกสลับแห้ง
การทำปุ๋ยจากวัชพืชน้ำบึงบอระเพ็ด
การปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ตัวชี้วัด THE Impact* Rankings ที่สอดคล้อง

13.2