MU-SDGs Case Study*

การยกระดับคุณภาพตะกอนดินของบึงบอระเพ็ดด้วยปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ของจังหวัดนครสวรรค์

ผู้ดำเนินการหลัก*

นายธนากร จันหมะกสิต

ส่วนงานหลัก*

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

ผู้ดำเนินการร่วม

อ.ดร. ปัณฑารีย์ แต้ประยูร
ดร.ณพล อนุตตรังกูร
นายจิระเดช บุญมาก
ดร.วชิระ กว้างขวาง
รศ.ดร. วีระเดช มีอินเกิด

ส่วนงานร่วม

1. หน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมทางน้ำและดิน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. หน่วยวิจัยการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
4. สำนักงานประมงจังหวัดนครสวรรค์

เนื้อหา*

วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินตะกอนบึงบอระเพ็ดที่มีสภาพไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช ให้สามารถเพาะปลูกพืชได้โดยการผสมกับปุ๋ยหมักที่ทำจากวัชพืชน้ำของบึงบอระเพ็ดในอัตราส่วนต่างๆ
2. เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกในดินที่ปรับปรุงคุณภาพแล้ว
3. เพื่อศึกษาลักษณะทางประสาทสัมผัสของพืชที่ปลูกในตะกอนดินหลังปรับปรุงสภาพ

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) เน้นการพัฒนา 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การพัฒนาบึงบอระเพ็ด การขับเคลื่อน Bio hub ด้านอ้อย และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านข้าว โดยบึงบอระเพ็ดเป็นบึงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่ 132,737 ไร่ ครอบคลุมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง และ อำเภอท่าตะโก ซึ่งจากการประชุมสัมมนาวิชาการแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จัดโดยสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด ที่ประชุมสรุปแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดประเด็นเร่งด่วนได้ 10 ประเด็น ได้แก่ 1. การสร้างระบบการบริหารจัดการในลุ่มน้ำย่อยเพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำและจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร โดยการขุดบึง และขุดลอกตะกอนดิน 2. การส่งเสริมการทำเกษตรวิถีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. การปลูกไม้ริมน้ำเพื่อลดการพังทลายของดิน 4. การปลูกพืชกรองน้ำเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เข้าสู่บึงบอระเพ็ด 5. การใช้พลังงานทดแทนในการสูบน้ำจากบึงบอระเพ็ดเพื่อใช้ประโยชน์ 6. การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรของบอระเพ็ด 7. การจัดทำปุ๋ยจากตะกอนดินบึงบอระเพ็ด 8. การแปรรูปพืชน้ำจากบึงบอระเพ็ด 9. การแปรรูปเศษเหลือของปลาบึงบอระเพ็ด และ 10. การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
โดยงานวิจัยในครั้งนี้มุ่งศึกษาในประเด็นที่ 7 เกี่ยวกับตะกอนดินบึงบอระเพ็ดและวัชพืชน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ จากการศึกษาพบว่าในปี พ.ศ. 2564 ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคตะวันออกจำนวน 19 จังหวัด มีการจัดเก็บวัชพืชน้ำประมาณ 4,513,836.75 ตัน (มติชนออนไลน์, 2564) โดยพบว่าการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำในแหล่งน้ำที่มีเป็นจำนวนมากและการทับถมของตะกอนดินส่งผลให้แหล่งน้ำตื้นเขิน โดยวัชพืชน้ำส่งผลกระทบในหลายด้าน ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง และภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการบริหารจัดการปีละหลายร้อยล้านบาท สำหรับบึงบอระเพ็ดพบว่าวัชพืชน้ำที่ส่วนใหญ่ 95% เป็นผักตบชวาที่มีการเจริญเติบโตและการทับถมอยู่เป็นจำนวนมากภายในบึงบอระเพ็ดและคลองสาขาของบึงบอระเพ็ด โดยมีหน่วยขุดลอกและกำจัดวัชพืชบึงบอระเพ็ดภายใต้กำกับดูแลของกรมประมงเข้ามาทำการขุดลอกวัชพืชน้ำ และนำไปกองไว้ในบริเวณเกาะกลางบึงบอระเพ็ดหรือบริเวณขอบของตลิ่งบึงบอระเพ็ดในเขตพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์บึงบอระเพ็ดและชาวบ้านโดยรอบ อีกทั้งยังไม่ได้มีการนำวัชพืชน้ำเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้บึงบอระเพ็ดยังมีปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขินเนื่องจากตะกอนดินไหลมาพร้อมกับน้ำเข้ามายังบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในหน้าแล้งลดลง จากการศึกษาของ ณพล อนุตตรังกูร และคณะ (2561) รายงานว่าอัตราการชะล้างพังทลายของดินที่ลงมาสู่บึงบอระเพ็ดมีจำนวนปีละ 2,890,000 ลูกบาศก์เมตร โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้อนุมัติให้มีการดำเนินการขุดลอกตะกอนดินภายในบึงบอระเพ็ดเพื่อแก้ไขปัญหาการตื้นเขิน ซึ่งมีปริมาณตะกอนดินที่ขุดลอกถึงปีละไม่น้อยกว่า 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังมีหน่วยงานภายในจังหวัดขุดลอกอยู่เป็นประจำตามรอบ (มติชนออนไลน์, 2559)
ในปัจจุบันปัญหาของปริมาณวัชพืชน้ำที่มีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว มีอิทธิพลต่อการตื้นเขินและประสิทธิภาพของบึงบอระเพ็ด โดยวัชพืชน้ำนั้นยากต่อการกำจัดและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาแหล่งน้ำในด้านต่างๆ เพราะทำให้สูญเสียเวลา แรงงาน และงบประมาณในการจัดการ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2546) ดังนั้น จึงมีความพยายามหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากวัชพืชน้ำ เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณและเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นการบูรณาการและการจัดการในเชิงพื้นที่ โดยพบว่ามีการนำวัชพืชน้ำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิเช่น วัสดุรองพื้นในการเลี้ยงไส้เดือน (พีรยุทธ สิริฐนกร และคณะ, 2557) การทำปุ๋ยจากผักตบชวาเพื่อการปลูกพืช (เฉลิมชัย แพะคำ และคณะ, 2557; จักรกฤช ศรีลออ และคณะ, 2363; ประไพพรรณ จันทร์ทิพย์, 2559)
จากการศึกษาสมบัติทางฟิสิกส์และสมบัติทางเคมีของตะกอนดินบึงบอระเพ็ด พบว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืชโดยมีค่าความเป็นกรดด่างของดินเท่ากับ 5.3 และปริมาณอินทรียวัตถุในดินต่ำ อีกทั้งตะกอนดินที่ถูกพัดพามาทับถมทุกปีและวัชพืชน้ำที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อปริมาณการกักเก็บน้ำและคุณภาพของน้ำในบึงบอระเพ็ด เป็นสาเหตุให้กักเก็บน้ำได้ลดลงและน้ำที่มีความขุ่นจึงมีผลต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการขุดลอกทุกปี ดังนั้นจากสัมมนาแนวทางการพัฒนาบึงบอระเพ็ดของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) จึงมีข้อสรุปเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการนำตะกอนดินที่มีการขุดลอกจากการดำเนินการของสำนักงานประมงจังหวัดนครสวรรค์มาปรับปรุงสภาพดินให้มีคุณสมบัติที่สามารถปลูกพืชและนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ด้วยการผสมกับปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำที่ได้จากการขุดลอกจากบึงบอระเพ็ดซึ่งนำมากองไว้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยการศึกษานี้ได้ผสมปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำและตะกอนดินในอัตราส่วนต่างๆทั้งหมด 8 สิ่งทดลอง หลังจากนั้นตรวจสอบสมบัติทางฟิสิกส์และสมบัติทางเคมีของตะกอนดินหลังปรับปรุงสภาพ พร้อมทั้งทดลองปลูกคะน้าในตะกอนดินหลังปรับปรุงสภาพ และทดสอบทางประสาทสัมผัสของคะน้า เมื่อวิเคราะห์สมบัติทางเคมีของดินหลังการปรับปรุงคุณภาพก็พบว่าทุกสิ่งทดลองตะกอนดินมีปริมาณอินทรียวัตถุ, ปริมาณฟอสฟอรัสที่แลกเปลี่ยนได้, ปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ รวมทั้งค่าการนำไฟฟ้า และค่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวกมีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ และที่อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน เมื่อพิจารณาจากน้ำหนักสดของคะน้าพบว่าสิ่งทดลองที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิ่งทดลอง T2, T7 และ T8 ซึ่งประกอบด้วยปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ 100%, ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ : ตะกอนดิน ในอัตราส่วน 50% : 50% และ 60% : 40% ตามลำดับ โดยมีน้ำหนักสดของคะน้ามีค่าสูงกว่าสิ่งทดลองอื่นๆ และเมื่อทดสอบทางประสาทสัมผัสโดยให้ผู้ทดสอบจำนวน 40 คน ทำการชิมผักคะน้าพบว่าคะน้าในสิ่งทดลอง T2 มีค่าเฉลี่ยความชอบโดยรวม, สี, รสชาติ และเนื้อสัมผัสสูงที่สุด รองลงมาคือ T7 และ T8 ตามลำดับ ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่นำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างตะกอนดินและวัชพืชน้ำไปสู่การใช้ประโยชน์ และยังสามารถลดปัญหาของบึงบอระเพ็ดได้อีกด้วย 

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม*

SDGs12, SDGs6

เป้าประสงค์ย่อยใน SDG หลัก*

12.2,6.3

SDGs อื่น ๆ ที่สอดคล้อง

SDGs2

เป้าประสงค์ย่อยใน SDG อื่นๆ

2.4

Links ข้อมูลเพิ่มเติม *

 
 
 

MU-SDGs Strategy*

ยุทธศาสตร์ที่ 2

Partners/Stakeholders*

1. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
2. สำนักงานประมงจังหวัดนครสวรรค์

ภาพประกอบ (3-5 ภาพ)*


รูปภาพที่ 1 แสดงลักษณะของเนื้อดินตะกอนแต่ละสิ่งทดลองหลังจากหมักในที่ร่ม 1 เดือน และลักษณะการเจริญเติบโตของคะน้าหลังจากปลูก 45 วัน (T1 = ดินผสมทางการค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด T2 = ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำที่ขุดลอกจากบึงบอระเพ็ด T3 = ตะกอนดินบึงบอระเพ็ดที่ยังไม่ได้ปรับปรุงสภาพ T4 = ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ 20% + ตะกอนดินบึงบอระเพ็ด 80% T5 = ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ30% + ตะกอนดินบึงบอระเพ็ด 70% T6 = ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ 40% + ตะกอนดินบึงบอระเพ็ด 60% T7 = ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ 50% + ตะกอนดินบึงบอระเพ็ด 50% และ T8 = ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ 60% + ตะกอนดินบึงบอระเพ็ด 40%)

Key Message*

ตะกอนดินบึงบอระเพ็ดที่ปรับปรุงคุณภาพโดยมีส่วนผสมของปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ สามารถเพิ่มศักยภาพจากที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการนำไปเพาะปลูกพืช ให้สามารถมีความเหมาะสมต่อการนำไปปลูกพืชได้ โดยอัตราส่วนโดยน้ำหนักที่เหมาะสมคือปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ 50% : ตะกอนดิน 50% และ ปุ๋ยหมักจากวัชพืชน้ำ 60% : ตะกอนดิน 40% ซึ่งทั้ง 2 สูตรนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในเนื้อดิน และธาตุอาหารให้แก่ตะกอนดิน ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่ชาวบ้าน เกษตรกร ผู้ที่สนใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยรอบบึงบอระเพ็ด สามารถนำเอาหลักการและสูตรการปรับปรุงภาพตะกอนดินจากปุ๋ยหมักวัชพืชน้ำในงานวิจัยครั้งนี้ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของตนเองก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่หมุนเวียนใช้ประโยชน์ หรือ พัฒนาเป็นผลิตดินผสมเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) อีกทั้งวิธีการนี้ยังเป็นการช่วยให้ตะกอนดินจากที่เป็นปัญหามลภาวะทางน้ำมีคุณภาพและเป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ตัวชี้วัด THE Impact* Rankings ที่สอดคล้อง

6.5.1, 12.4.1