0910240808 weeradej.mee@mahidol.ac.th

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีเกษตรสิ่งแวดล้อม

Social Share

1) หลักการและเหตุผลในการวางแผนเปิดหลักสูตร

1.1) เหตุผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

1.1.1) จากแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ยึดหลักบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนทั้งในแง่ของการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นหลายมิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกัน มีเป้าหมายด้านความมั่นคง ทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การจัดบริหารให้มีน้ำและสุขอนามัยที่ยั่งยืน การยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในประเทศที่กำลังพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาและหลักสูตรด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมจะช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาดังกล่าวให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน ระดับภูมิภาค อันจะส่งผลต่อไปในระดับประเทศชาติ และระดับนานาชาติ

1.1.2) การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ตามประเด็นการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และพัฒนาอย่างสมดุลยั่งยืน โดยเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นแนวคิดของระบบผลิตที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้ และก่อให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษกิจพอเพียง ประกอบกับสถาบันการศึกษาได้รับนโยบายตามประเด็นการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ประเด็นที่ ๖ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการศึกษาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน แต่ยังต้องสร้างบุคลากรในหน่วยงานราชการ และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมให้มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อสามารถขับเคลื่อนระบบเกษตรของประเทศไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีเกษตรสิ่งแวดล้อมที่เน้นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการทำเกษตรกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ พร้อมใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสมัยใหม่ในการส่งเสริมระบบการเกษตรสมัยใหม่

1.2) เหตุผลทางด้านการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม

1.2.1) ที่ตั้งและพื้นที่เป้าหมายของวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ จึงเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมด้านการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าว ขณะเดียวกันก็มีการปลูกพืชไร่อื่น ๆ เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บึงบอระเพ็ด” ซึ่งถือเป็นแหล่งประมงน้ำจืดสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศ และทางตะวันตกยังมีผืนป่า ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำการเกษตรที่ขาดความเข้าใจ และไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม    นับเป็นที่มาของปัญหาทางด้านสุขภาพของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ ตลอดจนส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้สิ่งสำคัญในปัจจุบัน กิจกรรมด้านการเกษตรจำเป็นที่เกษตรกรต้องมีความรู้ และหลักการทางทฤษฎีเป็นอย่างดี กระบวนการด้านการจัดการ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

1.2.2) บริเวณที่ตั้งของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ และล้อมรอบด้วยจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์อีกจำนวน ๖ จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ ด้วยพื้นที่หลักมีกิจกรรมด้านการเกษตรมากมาย จึงมีหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ และบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าว ถือเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสำคัญของหลักสูตรใหม่ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๓, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๔ (นครสวรรค์), โครงการชลประทานจังหวัด, สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต ๙, ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด,  โรงงานเบียร์ช้าง จังหวัดกำแพงเพชร, โรงงานน้ำตาลมิตรผล โรงงานน้ำตาลวังขนาย จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นต้น จากสถานการณ์ทางสังคม และวัฒนธรรม ในปัจจุบันที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูง พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนอยู่ตลอดเวลา การศึกษาภาคพิเศษจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้คนทำงานสามารถเรียนหนังสือไปพร้อมๆ กันได้ ด้วยเหตุนี้ทางวิทยาเขตจึงได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีเกษตรสิ่งแวดล้อม ทั้งหลักสูตรภาคปกติและภาคพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา และการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจทางการเกษตรที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อทั้งท้องถิ่น และระดับประเทศ

2) ปรัชญาและความสำคัญของหลักสูตร

มุ่งผลิตมหาบัณฑิตให้เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถระดับสูงในการพัฒนาและประยุกต์พหุวิทยาการทั้งด้านการเกษตรและด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเกษตรที่ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีทักษะในการทำวิจัย วิเคราะห์ข้อมูล และประเมินผลงานวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถบุกเบิก แสวงหาความรู้ และนวัตกรรมใหม่อย่างอิสระ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการที่ทันสมัย เชื่อมโยงและบูรณาการศาสตร์ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมกับศาสตร์อื่น ๆ ได้ต่อเนื่อง สื่อสารและถ่ายทอดผลงานวิจัยในระดับวิชาการ ระดับผู้ชำนาญการ และระดับชุมชน มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

3) วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้วมหาบัณฑิตจะมีคุณลักษณะตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา ดังนี้

3.1) มีคุณธรรม จริยธรรมตามมาตรฐานจรรยาบรรณทางวิชาการและการวิจัย

3.2) มีความรู้และความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสิ่งแวดล้อม สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปบูรณาการกับศาสตร์อื่นได้

3.3) คิด วิเคราะห์ วิจารณ์ปัญหาด้านเทคโนโลยีการเกษตรสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่ กรณีศึกษาหรืองานวิจัยได้ และประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ถูกต้องตามกระบวนการวิจัย

3.4) มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีภาวะผู้นำและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

3.5) ใช้ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลขและเทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษาค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงนำเสนอหรือถ่ายทอดทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนได้อย่างเหมาะสม

4) วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน

4.1) หลักสูตรภาคปกติ (หลักสูตร 2 ปี) จัดการเรียนการสอนใน วัน-เวลาราชการ

ภาคการศึกษาต้น    เดือน สิงหาคม – ธันวาคม

ภาคการศึกษาปลาย เดือน มกราคม – พฤษภาคม

4.2) หลักสูตรภาคพิเศษ (หลักสูตร 2 ปี) จัดการเรียนการสอนใน วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ

ภาคการศึกษาต้น    เดือน สิงหาคม – ธันวาคม

ภาคการศึกษาปลาย เดือน มกราคม – พฤษภาคม

5) คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา

5.1) หลักสูตรภาคปกติ แผน ก แบบ ก ๒

5.1.1) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่า หรือระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา ชีวเคมี วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การเกษตร ประมง หรือสาขาวิชาใกล้เคียงจากสถาบันอุดมศึกษาที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมรับรอง

5.1.2) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐

5.1.3) มีผลคะแนนภาษาอังกฤษผ่านตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

5.1.4) ผู้ที่มีคุณสมบัติต่างจากที่กำหนดในข้อ (๒) และข้อ (๓) อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้าศึกษาได้ โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

5.2) หลักสูตรภาคพิเศษ แผน ข

5.2.1) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่า หรือระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา ชีวเคมี วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การเกษตร ประมง หรือสาขาวิชาใกล้เคียงจากสถาบันอุดมศึกษาที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับรอง

5.2.2) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐

5.2.3) มีผลคะแนนภาษาอังกฤษผ่านตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

5.2.4) มีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ชีวเคมี สิ่งแวดล้อมและการเกษตร ไม่น้อยกว่า ๑ ปี

5.2.5) ผู้ที่มีคุณสมบัติต่างจากที่กำหนดใน (๒) ถึง (๔) อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้าศึกษาได้ โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

6) โครงสร้างหลักสูตร

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรภาคปกติ (แผน ก แบบ ก๒) และหลักสูตรภาคพิเศษ (แผน ข)       ไม่น้อยกว่า  ๓๖ หน่วยกิต

จัดการศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิต ศึกษา   พ.ศ. ๒๕๕๘ หลักสูตรปริญญาโท ภาคปกติ แผน ก แบบ ก๒ และแผน ข ดังนี้

แผน ก แบบ ก 2 แผน ข
1) หมวดวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต 18 หน่วยกิต
2) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต 12 หน่วยกิต
3) วิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต 6 หน่วยกิต
4) สารนิพนธ์
รวมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต 36 หน่วยกิต

7) อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

7.1)  นักวิชาการภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม

7.2)  นักวิจัยภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม

7.3)  บุคลากรสาขาเกษตรและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา

7.4)  ประกอบอาชีพอิสระด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม

7)  สนใจสมัครเรียน  คลิกที่นี่


Social Share

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save