MU-SDGs Case Study*

การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ปี 2568

ผู้ดำเนินการหลัก*

ดร.ณพล อนุตตรังกูร

ส่วนงานหลัก*

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

ผู้ดำเนินการร่วม

นายยุทธิชัย โฮ้ไทย
นางสาววิมลรัตน์ อัตถบูรณ์
นายธนากร จันหมะกสิต
นางชุติภากาญจน์ ประจันทร์

ส่วนงานร่วม

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

เนื้อหา*

1. ความสำคัญ
“บึงบอระเพ็ด” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และเป็นบึงน้ำจืดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางด้านพรรณพืช สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า โดยบึงบอระเพ็ดเป็นบึงที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ โดยพระบรมราชานุญาติของรัชกาลที่ ๗ ให้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งก่อนมีการก่อสร้างฝายเพื่อสร้างบึงมีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่บึงอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ชาวบ้านได้อพยพขึ้นมาอยู่บริเวณขอบบึง ต่อมามีการบุกรุกพื้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์หลายด้าน ทำให้บึงบอระเพ็ดมีสารพัดปัญหาที่ซ้อนทับซับซ้อนหลายด้าน สืบเนื่องจากบึงบอระเพ็ดเป็นที่ราชพัสดุที่กรมประมงขอใช้พื้นที่เพื่อบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำในปี ๒๔๖๙ จำนวน ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ ๕๖ ตารางวา ครอบคลุมพื้นที่ใน 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลแควใหญ่ ตำบลเกรียงไกร ตำบลหนองปลิง ตำบลทับกฤช ตำบลพนมเศษ ตำบลวังมหากร ตำบลพระนอน ตำบลกลางแดด ตำบลนครสวรรค์ออก และตำบลพนมรอก ต่อมาได้มีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดในพื้นที่ในปี ๒๕๑๘ จำนวน ๖๖,๒๕๐ ไร่ ทำให้มีกฎหมายที่ใช้ซ้อนทับกันถึง ๓ ฉบับ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑๓ หน่วยงาน และนอกจากนี้มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตบึงบอระเพ็ดจำนวน ๕,๖๘๔ ครัวเรือน 

การใช้น้ำในบึงบอระเพ็ด พบการใช้ประโยชน์ในการทำประมง การดึงน้ำไปใช้ทำการเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค แต่เนื่องจากสภาพบึงบอระเพ็ดมีสภาพคล้ายจานข้าวทำให้เก็บน้ำไว้ได้ไม่มาก ทำให้มีการแย่งใช้ทรัพยากรกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงข้าวราคาดีมีการดึงน้ำไปทำนาย้อนกลับขึ้นที่สูงด้วยระยะทางกว่า ๓๐ กิโลเมตร จนเกิดข้อพิพาทในการแย่งน้ำระหว่างชาวนาและคนหาปลา รวมถึงระหว่างชาวนาด้วยกันเอง จนทำให้ฤดูแล้งเกือบทุกปีจะมีน้ำดิบไม่เพียงพอสำหรับการทำประปาหมู่บ้าน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในบึงบอระเพ็ดไม่มีน้ำอุปโภค รวมทั้งระบบสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมด้วย ในการนี้ภาครัฐได้มีการแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกตะกอนดิน ซึ่งไม่เพียงพอต่อตื้นเขินในพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากตะกอนดินที่ไหลจากพื้นที่ต้นน้ำ การทับถมของวัชพืช และการปลดปล่อยน้ำจากการไถพรวนของนาข้าวรอบบึงบอระเพ็ด ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมจะทำให้บึงบอระเพ็ดตื้นเขินและหมดสภาพความเป็นบึงได้ กรมทรัพยากรน้ำได้มีระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ดเพื่อรักษาระบบนิเวศบึงบอระเพ็ด ซึ่งผลที่เกิดขึ้นพบว่าปัญหาการระบายน้ำในคลองและมีชาวนาบริเวณคลองส่งน้ำสู่บึงสูบน้ำไปใช้ทำการเกษตรส่งผลให้น้ำไม่สามารถลงสู่บึงบอระเพ็ดได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นปัญหาการใช้น้ำและการแย่งน้ำที่เกิดขึ้นในบึงบอระเพ็ดจึงเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในช่วงปี ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน หากไม่มีการแก้ไขปัญหาจะส่งผลทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท การขาดความสามัคคีในชุมชน และการระบบสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงจนสู่ขั้นวิกฤติได้

ในการนี้จึงมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในบึงบอระเพ็ดด้วยการสร้างระบบการบริหารจัดการด้วยการรับฟังความคิดเห็น สร้างการรับรู้ สร้างความร่วมมือ และทำงานร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้เห็นชอบและรับทราบให้ดำเนินการขับเคลื่อนในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เพื่อขอทุนสนับสนุนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคมจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป
 
2. ผลการดำเนินงาน
ผลการดำเนินงานของผลงาน “การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด” แบ่งผลการดำเนินงานทั้งหมด 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ และช่วงการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ช่วงการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำได้มีการดำเนินการในปี 2565 ซึ่งมีการสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบึงบอระเพ็ดที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคประชาชนในแต่ละตำบล และสถาบันการศึกษา ด้วยการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านทรัพยากรน้ำ และวิเคราะห์ข้อมูลไปนำเสนอให้กับแต่ละเวทีการประชุม พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและความต้องการในแต่ละพื้นที่ไปแบ่งปันให้กับทุกภาคส่วน เพื่อให้รู้เท่ากันและความเข้าใจร่วมกัน มีการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้น้ำรูปแบบความสำคัญทางสถิติซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการ เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับทุกภาคส่วนและสร้างโมเดลการใช้น้ำร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีการสร้างโครงสร้างในการบริหารจัดการน้ำที่มีแนวทางการดำเนินงานที่ยอมรับร่วมกันทุกภาคส่วน ผลักดันสู่ระดับนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ พร้อมทั้งสร้างระบบการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบสมาร์ทบึงบอระเพ็ด ดังรูปที่ 1 ผลกระทบของงานในช่วงนี้ พบว่า ทุกภาคส่วนได้มีการสร้างโมเดลการจัดการบึงบอระเพ็ดร่วมกัน ดังรูปที่ 2 เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ ดังรูปที่ 3 พร้อมทั้งผลักดันข้อตกลงในการใช้น้ำเข้าสู่แผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดอีกด้วย นอกจากนี้ชุมชนได้มีการรวมกลุ่มกันจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ดทั้งหมดรวมจำนวน 5 ตำบล ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย มีการสร้างการทำงานร่วมกันที่สามารถลดความขัดแย้งได้

2) ช่วงการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ
ปี 2566-2567 เป็นช่วงการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการน้ำกับโครงสร้างที่มีอยู่ โดยการประชาสัมพันธ์ระบบการบริหารจัดการน้ำ การขึ้นทะเบียนผู้ต้องการใช้น้ำจากบึงบอระเพ็ด การสร้างทีมที่เป็นเอกภาพ และการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่ นอกจากนี้มีการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำด้วยการพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การพัฒนาศูนย์ข้อมูลบึงบอระเพ็ด และการจัดทำสื่อการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ผลกระทบของงานที่เกิดขึ้นพบว่า มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นที่เชื่อมโยงจากในบึงสู่นอกบึงบอระเพ็ดอีก 4 ตำบล รวมทั้งหมดเป็น 9 ตำบล ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้น้ำ จึงได้มีการขึ้นทะเบียนต้องการใช้น้ำทั้งในเขตและนอกเขตบึงบอระเพ็ดรวมจำนวน 3,723 ราย 5,011 แปลง รวมขนาดเนื้อที่ 69,871 ไร่ ศูนย์ข้อมูลบึงบอระเพ็ดได้ใช้งานจริง โดยมีการสนับสนุนข้อมูลให้กับคณะกรรมการชุดต่างๆ นอกจากนี้คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาหนุนเสริมการทำงานให้กับเครือข่ายบึงบอระเพ็ด ด้วยการสร้างระบบ Bueng Boraphet – Water Image Downloader ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมได้อย่างเต็มศักยภาพ และมีคนเข้ามาดูงานแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดมากกว่า 200 คน ในการนี้ตัวชี้วัดที่สำคัญเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ลดลงจนเป็นศูนย์ในปี 2566-2567 และคณะกรรมการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด ได้มีการรับรองเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ 4 ระดับ ดังรูปที่ 4 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจในการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมอีกด้วย นอกจากนี้คณะกรรมการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่1/2567 ได้รับรอง “ระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นทางการและยั่งยืนต่อไป 

เครือข่ายบึงบอระเพ็ดได้ส่งประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประจำปี 2567 ของรัฐสภา ผลงานประเภทชุมชน องค์กร โดยส่งผลงานเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด” ในนามคณะกรรมการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด ซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานร่วมกันทั้งในระดับชุมชนและระดับจังหวัด การแข่งขันได้มีการคัดเลือกรอบเอกสาร รอบนำเสนอผลงานผ่านระบบออนไลน์ และออกบูทนำเสนอคณะกรรมการที่รัฐสภา ผลปรากฏว่าผลงานนี้ได้รับรางวัลระดับ “ดีมาก” ซึ่งได้รับโล่รางวัลกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2567 ณ รัฐสภา 

ระยะถัดไปช่วงปี 2567-2568 ได้ต่อยอดจากการบริหารจัดการน้ำสู่การพัฒนาอาชีพของประชาชนในพื้นที่ โดยการปรับวิถีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำนาเปียกสลับแห้งที่เป็นนาที่ใช้น้ำน้อยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการทำปุ๋ยจากวัชพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดที่ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการน้ำท่วมวัชพืชอีกด้วย
การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ทั้งการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ และการขับเคลื่อนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทุกกระบวนการ พร้อมทั้งมีการสร้างความร่วมมือ การรับฟังความคิดเห็น การทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน จนถึงการขับเคลื่อนส่งต่อไปในระดับนโยบายผ่านกฎหมายต่างๆ ได้อย่างราบรื่น เนื่องจากเป็นแนวทางที่ทุกภาคร่วมยอมรับร่วมกันแล้ว ในการนี้กระบวนการจะขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆได้อีกด้วย ในการนี้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ลงพื้นที่ถอดบทเรียนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ “บึงบอระเพ็ด” ในการปรับตัวต่อการ

เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่ต้นแบบของการปรับตัวด้านการบริหารจัดการน้ำ

ในปี 2568 เครือข่ายบึงบอระเพ็ดได้รับการยอมรับในระดับที่สูงขึ้น ด้วยการได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ประธานองค์กรผู้ใช้น้ำตำบลทับกฤช ได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคเกษตรกรรม รวมทั้งบุคลากรของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐสภา

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม*

SDGs6

เป้าประสงค์ย่อยใน SDG หลัก*

6.4, 6.6, 6.b

SDGs อื่น ๆ ที่สอดคล้อง

SDGs13,14,15,17

เป้าประสงค์ย่อยใน SDG อื่นๆ

13.1, 14.2.1, 15.1, 17.1

Links ข้อมูลเพิ่มเติม * 

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.facebook.com/MUNAkhonsawan/videos/270841642755512

ม.มหิดล ร่วมนำเสนอข้อมูลให้กับท่านราชเลขานุการในสพระองค์
https://na.mahidol.ac.th/th/2024/13291

การออกสื่อสาธารณะ
https://www.thaipbs.or.th/news/content/337926?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR1Eg4EvBDNThdqRm-hLmX42p3aEBWEXsJzCWRw2Vub4EgK9PRyvhEwT_eo_aem_AQw-VZjwG00nG0FP4VCvKvjZybYGsCzWtnQTDRM8DiyFoO_jVCDqbCn8f2SFumNN0HbcYf8frP3uUC6yIub7kUaW

การบริการวิชาการให้กับเครือข่าย
https://na.mahidol.ac.th/th/2024/12986

การประกวดนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย รัฐสภา
https://www.youtube.com/watch?v=DtmKLv-Gvqc

ถอดบทเรียนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ “บึงบอระเพ็ด” ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE)
https://tei.or.th/th/activities_us_detail.php?eid=3003

 

MU-SDGs Strategy*

ยุทธศาสตร์ที่ 3

Partners/Stakeholders*

จังหวัดนครสวรรค์
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
ส่วนเครื่องกลสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 (กรมทรัพยากรน้ำ)
โครงการชลประทานนครสวรรค์
ประมงจังหวัดนครสวรรค์
ธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 ตำบล
เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ 9 ตำบล

ภาพประกอบ (3-5 ภาพ)*

 

Key Message*

การเป็นที่พึ่งให้กับเครือข่ายเป็นภาคกิจหลักของสถาบันการศึกษา ที่ต้องร่วมเรียนรู้ สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน จะทำให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง และยั่งยืนตลอดไป

ตัวชี้วัด THE Impact* Rankings ที่สอดคล้อง

6.5.5