ปริญญาโท วทม. เทคโนโลยีเกษตรสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์ วทม. เทคโนโลยีเกษตรสิ่งแวดล้อม  https://na.mahidol.ac.th/aet/


หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  
สาขาเทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม

1) หลักการและเหตุผลในการวางแผนเปิดหลักสูตร

1.1) เหตุผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

1.1.1) จากแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ยึดหลักบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนทั้งในแง่ของการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นหลายมิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกัน มีเป้าหมายด้านความมั่นคง ทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การจัดบริหารให้มีน้ำและสุขอนามัยที่ยั่งยืน การยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในประเทศที่กำลังพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาและหลักสูตรด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมจะช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาดังกล่าวให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน ระดับภูมิภาค อันจะส่งผลต่อไปในระดับประเทศชาติ และระดับนานาชาติ

1.1.2) การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ตามประเด็นการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และพัฒนาอย่างสมดุลยั่งยืน โดยเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นแนวคิดของระบบผลิตที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้ และก่อให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษกิจพอเพียง ประกอบกับสถาบันการศึกษาได้รับนโยบายตามประเด็นการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ประเด็นที่ ๖ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการศึกษาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน แต่ยังต้องสร้างบุคลากรในหน่วยงานราชการ และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมให้มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อสามารถขับเคลื่อนระบบเกษตรของประเทศไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีเกษตรสิ่งแวดล้อมที่เน้นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการทำเกษตรกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ พร้อมใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสมัยใหม่ในการส่งเสริมระบบการเกษตรสมัยใหม่

1.2) เหตุผลทางด้านการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม

1.2.1) ที่ตั้งและพื้นที่เป้าหมายของวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ จึงเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมด้านการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าว ขณะเดียวกันก็มีการปลูกพืชไร่อื่น ๆ เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บึงบอระเพ็ด” ซึ่งถือเป็นแหล่งประมงน้ำจืดสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศ และทางตะวันตกยังมีผืนป่า ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำการเกษตรที่ขาดความเข้าใจ และไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม    นับเป็นที่มาของปัญหาทางด้านสุขภาพของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ ตลอดจนส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้สิ่งสำคัญในปัจจุบัน กิจกรรมด้านการเกษตรจำเป็นที่เกษตรกรต้องมีความรู้ และหลักการทางทฤษฎีเป็นอย่างดี กระบวนการด้านการจัดการ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

1.2.2) บริเวณที่ตั้งของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ และล้อมรอบด้วยจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์อีกจำนวน ๖ จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ ด้วยพื้นที่หลักมีกิจกรรมด้านการเกษตรมากมาย จึงมีหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ และบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าว ถือเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสำคัญของหลักสูตรใหม่ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๓, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๔ (นครสวรรค์), โครงการชลประทานจังหวัด, สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต ๙, ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด,  โรงงานเบียร์ช้าง จังหวัดกำแพงเพชร, โรงงานน้ำตาลมิตรผล โรงงานน้ำตาลวังขนาย จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นต้น จากสถานการณ์ทางสังคม และวัฒนธรรม ในปัจจุบันที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูง พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนอยู่ตลอดเวลา การศึกษาภาคพิเศษจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้คนทำงานสามารถเรียนหนังสือไปพร้อมๆ กันได้ ด้วยเหตุนี้ทางวิทยาเขตจึงได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีเกษตรสิ่งแวดล้อม ทั้งหลักสูตรภาคปกติและภาคพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา และการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจทางการเกษตรที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อทั้งท้องถิ่น และระดับประเทศ

2) ปรัชญาและความสำคัญของหลักสูตร

มุ่งผลิตมหาบัณฑิตให้เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถระดับสูงในการพัฒนาและประยุกต์พหุวิทยาการทั้งด้านการเกษตรและด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเกษตรที่ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีทักษะในการทำวิจัย วิเคราะห์ข้อมูล และประเมินผลงานวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถบุกเบิก แสวงหาความรู้ และนวัตกรรมใหม่อย่างอิสระ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการที่ทันสมัย เชื่อมโยงและบูรณาการศาสตร์ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมกับศาสตร์อื่น ๆ ได้ต่อเนื่อง สื่อสารและถ่ายทอดผลงานวิจัยในระดับวิชาการ ระดับผู้ชำนาญการ และระดับชุมชน มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

3) วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้วมหาบัณฑิตจะมีคุณลักษณะตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา ดังนี้

3.1) มีคุณธรรม จริยธรรมตามมาตรฐานจรรยาบรรณทางวิชาการและการวิจัย

3.2) มีความรู้และความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสิ่งแวดล้อม สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปบูรณาการกับศาสตร์อื่นได้

3.3) คิด วิเคราะห์ วิจารณ์ปัญหาด้านเทคโนโลยีการเกษตรสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่ กรณีศึกษาหรืองานวิจัยได้ และประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ถูกต้องตามกระบวนการวิจัย

3.4) มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีภาวะผู้นำและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

3.5) ใช้ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลขและเทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษาค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงนำเสนอหรือถ่ายทอดทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนได้อย่างเหมาะสม

4) วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน

4.1) หลักสูตรภาคปกติ (หลักสูตร 2 ปี) จัดการเรียนการสอนใน วัน-เวลาราชการ

ภาคการศึกษาต้น    เดือน สิงหาคม – ธันวาคม

ภาคการศึกษาปลาย เดือน มกราคม – พฤษภาคม

4.2) หลักสูตรภาคพิเศษ (หลักสูตร 2 ปี) จัดการเรียนการสอนใน วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ

ภาคการศึกษาต้น    เดือน สิงหาคม – ธันวาคม

ภาคการศึกษาปลาย เดือน มกราคม – พฤษภาคม

5) คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา

5.1) หลักสูตรภาคปกติ แผน ก แบบ ก ๒

5.1.1) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่า หรือระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา ชีวเคมี วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การเกษตร ประมง หรือสาขาวิชาใกล้เคียงจากสถาบันอุดมศึกษาที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมรับรอง

5.1.2) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐

5.1.3) มีผลคะแนนภาษาอังกฤษผ่านตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

5.1.4) ผู้ที่มีคุณสมบัติต่างจากที่กำหนดในข้อ (๒) และข้อ (๓) อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้าศึกษาได้ โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

5.2) หลักสูตรภาคพิเศษ แผน ข

5.2.1) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่า หรือระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา ชีวเคมี วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การเกษตร ประมง หรือสาขาวิชาใกล้เคียงจากสถาบันอุดมศึกษาที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับรอง

5.2.2) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐

5.2.3) มีผลคะแนนภาษาอังกฤษผ่านตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

5.2.4) มีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ชีวเคมี สิ่งแวดล้อมและการเกษตร ไม่น้อยกว่า ๑ ปี

5.2.5) ผู้ที่มีคุณสมบัติต่างจากที่กำหนดใน (๒) ถึง (๔) อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้าศึกษาได้ โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

6) โครงสร้างหลักสูตร

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรภาคปกติ (แผน ก แบบ ก๒) และหลักสูตรภาคพิเศษ (แผน ข)       ไม่น้อยกว่า  ๓๖ หน่วยกิต

จัดการศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิต ศึกษา   พ.ศ. ๒๕๕๘ หลักสูตรปริญญาโท ภาคปกติ แผน ก แบบ ก๒ และแผน ข ดังนี้

แผน ก แบบ ก 2 แผน ข
1) หมวดวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต 18 หน่วยกิต
2) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต 12 หน่วยกิต
3) วิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต 6 หน่วยกิต
4) สารนิพนธ์
รวมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต 36 หน่วยกิต

7) อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

7.1)  นักวิชาการภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม

7.2)  นักวิจัยภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม

7.3)  บุคลากรสาขาเกษตรและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา

7.4)  ประกอบอาชีพอิสระด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม

8) ช่องทางการติดต่อ

8.1) Facebook: https://www.facebook.com/profile.php?id=100087285311368

8.2) โทรศัพท์

091-0240808 รศ.ดร.วีระเดช มีอินเกิด (ประธานหลักสูตร)

084-0476997 ผศ.ดร.สุจิตรา เตโช (เลขานุการหลักสูตร)

080-2466936 คุณทิพวรรณ เรือนโรจน์รุ่ง (ผู้ประสานงานหลัก)

9) เว็บไซต์สาขาวิชา  https://na.mahidol.ac.th/aet/

10) สมัครเรียน  คลิกที่นี่


เว็บไซต์หลักสูตร  https://na.mahidol.ac.th/aet/

 

 

 

 

Social Share