โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด

      โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดอย่างยั่งยืน ได้รับทุนวิจัยจาก สกว. ซึ่งมี รศ.ดร.ศันสนีย์ ชูแวว คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ โดยท่านได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนร่วมในโครงการฯ โดยรับผิดชอบในด้านชุมชน ซึ่งได้มีกิจกรรมการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามรอบบึงบอระเพ็ด รวมถึงการจัดประชุมคืนข้อมูล และวางแผนการใช้ประโยชน์ฯอย่างยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
   1. ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบสถานภาพของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดและบริเวณโดยรอบ ในอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้ม
   2. ศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหา ความขัดแย้ง ภัยคุกคาม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด เนื่องจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดและบริเวณโดยรอบ
   3. พัฒนาระบบฐานข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบสถานภาพและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด
   4. พัฒนาหลักเกณฑ์ แนวทาง และรูปแบบ การจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
   5. เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก ของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ชุมชนโดยรอบบึงบอระเพ็ด และสาธารณชน ในคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด การจัดการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดอย่างยั่งยืน

การดำเนินการวิจัย
   1. ศึกษา รวบรวม และสำรวจ ข้อมูลด้านระบบนิเวศทางธรรมชาติ ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ และรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
   2.การสำรวจและเก็บข้อมูลจากผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
   3. การสำรวจและเก็บข้อมูลจากชุมชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
   4. จัดการประชุม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและสำรวจ ตลอดจนเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เสนอปัญหา และร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมน้ำบึงบอระเพ็ดร่วมกัน

สรุปข้อเสนอแนะที่ได้การประชุมกลุ่มย่อย
ระหว่างวันที่ 3-6 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด

1. กลุ่มการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
• ควรมีการเติมน้ำเข้าสู่บึงบอระเพ็ดตลอดทั้งปี โดยให้อยู่ในระดับที่กักเก็บสูงสุดของฝายบางปรอง (24 เมตรจากระดับน้ำทะเล)
• ปรับสภาพพื้นที่บึงบอระเพ็ด ให้พื้นท้องน้ำมีความเรียบสม่ำเสมอ และเสริมคันดินรอบบึงบอระเพ็ด เพื่อแสดงอาณาเขตให้ชัดเจนมากขึ้น
• กำหนดอาณาเขตบึงให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุก โดยมีการทำสัญลักษณ์ในเชิงประจักษ์ เช่น ทำคันดินรอบบึง กั้นแนวเขตให้ชัดเจน เสาที่เห็นชัดเจน เป็นต้น
• ควรลอกคลองในบึงบอระเพ็ดให้กลับอยู่ในสภาพเดิม เพื่อสามารถส่งน้ำไปให้กลุ่มผู้ใช้น้ำได้
• ควรมีระบบปิดเปิดน้ำเป็นระบบชลประทานที่ชัดเจน เพราะทุกคนยอมจ่ายค่าน้ำถ้ามีระบบชลประทานที่นำน้ำเข้ามา
• ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และปรับให้รุนแรงขึ้น
• จัดหน่วยลาดตระเวนในภาคประชาชน เพื่อป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
• กลุ่มจับปลา ควรมีคนกลางในการพูดคุยในการแก้ปัญหาการจับปลาที่ผิดกฎหมายร่วมกัน
• กลุ่มเลี้ยงปลาควรมีกิจกรรมการรวมกลุ่ม (สหกรณ์) และในส่วนที่ดำเนินการไม่ได้ให้มีการทบทวนคณะกรรมการใหม่
• กลุ่มเลี้ยงปลาควรมีกิจกรรมในการปล่อยปลาสู่บึงบอระเพ็ด
• ภาครัฐควรผลิตนักวิชาการในมิติการประกอบการ เพื่อการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
• เกษตรกรรอบบึงบอระเพ็ด ควรลดจำนวนการทำนาจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง หรือทำการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย แทนการทำนาในครั้งที่ 3
• ควรมีคนกลางในการทำหน้าที่เป็นผู้ตกลงระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาครัฐ
• ควรมีเจ้าภาพในการดูแลรักษาบึงบอระเพ็ด (เป็นโครงสร้างการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและประชาชน)
• ภาครัฐ ควรมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนรอบบึงบอระเพ็ดได้ทราบโดยทั่วกัน

2. กลุ่มเกษตรกรรม
• ควรมีระบบการเติมน้ำเข้าสู่บึงบอระเพ็ดให้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะตลอดทั้งปี
• ควรเปิดประตูน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดในช่วงเดือนมกราคม และเปิดประตูให้น้ำออกในช่วงเดือน ตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ต้องประเมินน้ำในบึงฯ ให้เหมาะสม
• ต้องกำหนดขอบเขตบึงบอระเพ็ดให้ชัดเจน
• ต้องสืบค้นประวัติประชาชนที่ทำกินในเขตบึงบอระเพ็ดว่าใครอยู่ก่อน – หลังประกาศเขตบึงฯ
• ภาครัฐต้องปรับระบบการจดทะเบียนเกษตร จากทุก 5 ปี เปลี่ยนเป็นทุก 1 ปี
• ควรมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อนำไปสู่การเสียเงินร่วมกันตามจำนวนครั้งและพื้นที่ทำนาจริง
• ภาครัฐควรสื่อสารกับประชาชน โดยใช้ภาษาที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย
• นักวิชาการ ควรนำความรู้ทางวิชาการที่ปฏิบัติได้จริงให้กับชุมชน

3. กลุ่มผู้ทำบัว
• กำหนดขอบเขตบึงบอระเพ็ดให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ของบัว
• กำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ให้ชัดเจน เช่น พื้นที่นา ข้าว บัว และประมง
• เสริมสันฝายคลองบางปรองให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำ
• โครงการสูบน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดมีอยู่แล้ว อยากให้ใช้ได้จริง เพื่อช่วยแก้ปัญหาในฤดูแล้งได้
• สูบน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดให้อยู่ในระดับกักเก็บสูงสุดของฝายบางปรอง
• เสริมคันรอบบึงบอระเพ็ด เพื่อเป็นการแบ่งเขตที่ชัดเจน
• ควรมีระบบการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม และให้ระดับน้ำในบึงฯ ไม่น้อยกว่า 50 % ในฤดูแล้ง
• ควรปล่อยระบบนิเวศให้เป็นไปตามฤดูกาล และธรรมชาติจะกลับคืนมา
• ส่งเสริมอาชีพทำบัวให้กลับคืนสู่บึงบอระเพ็ด
• ควรมีโครงการเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นพื้นบ้านอย่างเหมาะสม เพื่อปล่อยกลับคืนบึงบอระเพ็ด
• ภาครัฐควรดูแล อนุรักษ์ ตรวจตรา เฝ้าระวัง อย่างจริงจัง ใส่ใจให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม
• ควรมีคนกลางในการพูดคุยแก้ไขปัญหาบึงบอระเพ็ดอย่างจริงใจและจริงจัง

4. กลุ่มผู้นำ
• กำหนดขอบเขตบึงให้ชัดเจน โดยให้กระทบชาวบ้านน้อยที่สุด เนื่องจากชาวบ้านบางกลุ่มอยู่มาก่อนที่จะประกาศเขตบึงฯ โดยแนวทางการกำหนดขอบเขต คือ ควรให้ต่ำลงมาได้ 4 หมื่นไร่ แต่ถ้าต่ำลงมา 1 แสนไร่ เป็นไปไม่ได้ เพราะจะเป็นการขับไล่ประชาชน เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มอยู่ในพื้นที่บึงมาก่อน
• ควรมีการเติมน้ำเข้าสู่บึงบอระเพ็ด เพื่อให้คนอยู่ได้ และรักษาระบบนิเวศ
• ควรมีการจัดทำแปลงเกษตรสาธิตในการทำการเกษตรกรรม เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องตัวอย่าง
• ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหาเรื่องระดับน้ำ โดยเฉพาะ สส และนักการเมืองท้องถิ่น
• ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมและวางแผนล่วงหน้าในการแก้ไขปัญหาในช่วงหน้าแล้ง เช่น การเปลี่ยนระบบการระบายน้ำ การขุดลอกคลองส่งน้ำเข้าบึง เป็นต้น
• ประกาศงดใช้สารเคมีในการใช้ประโยชน์จากบึงบอระเพ็ดทุกมิติ เช่น นาข้าว ไร่อ้อย แตงโมง เป็นต้น เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับนาบัว
• ควรให้มีการจัดประชาคมในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับทราบปัญหาเป็นประจำ
• ควรขึ้นทะเบียนเกษตรกร

5. กลุ่มการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
• กักเก็บน้ำในบึงบอระเพ็ดเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มระดับสันฝายอีก 1 เมตร หรือคงระดับน้ำที่ 24 เมตรจากระดับน้ำทะเลตลอดฤดูกาล
• กำหนดขอบเขตบึงให้ชัดเจน
• การทำงานของภาครัฐต้องมีการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

6. กลุ่มภาครัฐ
• กำหนดขอบเขตบึงบอระเพ็ดให้ชัดเจน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำสัญลักษณ์ที่โดดเด่น
• ควบคุมระดับน้ำในบึงบอระเพ็ดอยู่ในสภาพที่เหมาะสม
• บึงบอระเพ็ดต้องมีพื้นที่น้ำประมาณ 1 แสนไร่
• ต้องปลี่ยนวิถีการผลิตให้อยู่บนฐานปลอดสารเคมี
• ดำเนินการกับผู้บุกรุกบึงบอระเพ็ดอย่างเข้มงวด
• ควรจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำให้มีความชัดเจน
• สร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ร่วมกัน ในรูปแบบกิจกรรมที่บูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน
• มีเวทีสาธารณะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างจุดร่วมกันอย่างสมดุล
• สถาบันการศึกษาต้องเป็นคนกลางในการประสานงานในการสร้างจุดร่วมกันของทุกกลุ่ม
• ข้อตกลงที่ได้ร่วมกัน ต้องนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงในระดับจังหวัด และระดับประเทศ
• คืนงานวิจัยให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด
• ออกกฎหมายด้านการใช้ประโยชน์ใหม่ทั้งหมด

7. กลุ่มนักวิจัย
• ควรมีการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่มนักวิจัยเป็นประจำ เพื่อต่อยอดความคิดไปสู่การพัฒนาบึงบอระเพ็ดอย่างยั่งยืน

สรุปข้อเสนอแนะที่ได้การประชุมกลุ่มรวม
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด

การนำเสนอข้อมูลสรุปการประชุมกลุ่มย่อย ตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบึงบอระเพ็ดได้นำเสนอข้อมูลสรุปข้อคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม โดยในที่ประชุมสามารถสรุปประเด็นที่เหมือนกันได้ 5 ข้อ ได้แก่
   1) การกำหนดขอบเขตบึงบอระเพ็ดให้ชัดเจน
   2) การควบคุมระดับน้ำเข้าออกบึงบอระเพ็ดในระดับที่เหมาะสมตลอดทั้งปี
   3) การพัฒนาบึงบอระเพ็ดควรต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
   4) การมีเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นเวทีที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
   5) ความเสมอภาคและความเป็นธรรมของทุกภาคส่วนในบึงบอระเพ็ด

ความคิดเห็นเพิ่มเติมในที่ประชุม
 1) การกำหนดขอบเขตที่ดิน
     – ประชาชนมีความต้องการเช่าที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย
     – กรมประมงควรส่งคืนที่ดินให้กรมธนารักษ์ทบทวนการใช้ประโยชน์ใหม่
     – ตั้งคณะทำงานกลุ่มเล็กๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วน โดยมีศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ดเป็นผู้ประสานงาน 
 2) การเรียนรู้และพัฒนา
     – สถาบันการศึกษาควรทำหนังสือเกี่ยวกับความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อมของบึงบอระเพ็ด ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของบึงบอระเพ็ด
     – หน่วยงานในท้องถิ่น ควรสร้างการเรียนรู้กับชุมชนด้านการลดการใช้สารเคมีการเกษตร และพัฒนาไปสู่แหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรต่อไป (โรงเรียนเกษตรกร)
3) สถาบันการศึกษา
     – สถาบันการศึกษาควรทำวิจัยร่วมกับเยาวชนและลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกัน
     – เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างสถาบันการศึกษา เช่น ม.มหิดล มรภ.นครสวรรค์ เป็นต้น ในด้านงานวิจัย และการประสานงานกับภาครัฐ
     – ควรศึกษาเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางธรรมชาติของบึงบอระเพ็ดในระยะยาวและต่อเนื่อง
     – สถาบันการศึกษาควรร่วมเรียนรู้ และพัฒนา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย นักวิจัยท้องถิ่น นักวิจัยชุมชน และนักวิจัยประจำหน่วยงานราชการ ในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ
4) การมีส่วนร่วม
     – การประชุมควรจัดในพื้นที่ และจัดให้ครอบคลุมทั่วบึงบอระเพ็ด
     – สถาบันการศึกษาเป็นคนกลางในการจัดประชุม
5) ผู้ประสานงาน
     – ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด มหาวิทยาลัยมหิดล รับอาสาเป็นผู้ประสานงานหลัก

สรุปผลที่ได้จากการประชุม
      ได้มีการสร้างเครือข่ายการทำงานของทุกภาคส่วนอย่างไม่เป็นทางการและสมัครใจ โดยแบ่งกลุ่มได้ 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการกำหนดขอบเขต กลุ่มการจัดการน้ำ กลุ่มสิทธิการใช้ประโยชน์ กลุ่มการมีส่วนร่วม กลุ่มอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ และกลุ่มส่งเสริมอาชีพ โดยผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มจะเป็นแนวทางผลักดันไปสู่ความสมดุลของทุกภาคส่วนในอนาคต และเป็นเครือข่ายในการทำงานศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบึงบอระเพ็ดร่วมกันในอนาคต ตลอดจนมีข้อเสนอร่วมกันจากทุกกลุ่ม ให้ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ เป็นตัวกลางในการประสานงานในการทำงานร่วมกันกับทุกกลุ่ม ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาบึงบอระเพ็ด