Burin Gumjudpai: the Initiating and Noting

Social Share
ห้วงเวลา พ.ศ. 2537 ถึง พ.ศ. 2563
กับการก่อตั้งองค์กรต่างๆ 

  • ฟอรัมฟิสิกส์ทฤษฎีระดับนักศึกษา (SFTP) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2537)
  • กลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์ (TPTP) ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ. 2539)
  • สถาบันฤดูหนาวปฏิบัติการฟิสิกส์พื้นฐาน พ.ศ. 2547
  • TPCosmo School Series (พ.ศ. 2545 ยังคงดำเนินการอยู่) (1st | old web) (2nd | old web) (3rd) (4th) (5thICG page)
  • อนุกรมการประชุมวิชาการนานาชาติ Siam GR+HEP+Cosmo Symposium Series (ครั้งที่ 1พ.ศ. 2546) (ครั้งที่ 2 | พ.ศ.  2547) (ครั้งที่ 3 | พ.ศ. 2548) (ครั้งที่ 4 | พ.ศ.  2552 [ข่าวออนไลน์])  (ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557) (ครั้งที่ 6  พ.ศ. 2559
  • อนุกรมสัมมนาท่าโพธิ์  (Tah Poe Seminar Series) (ตั้งแต่ พ.ศ. 2546)
  • สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์สำหรับฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ. 2549)
  • สถานีฟิสิกส์ศึกษา และ ค่ายฟิสิกส์ IF มานะ (19 ค่าย ระหว่าง พ.ศ. 2552-พ.ศ. 2562)
  • ห้องปฏิบัติการวิจัยจักรวาลวิทยา (ThEP’s CRL) ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ของ สกอ. (พ.ศ. 2552)
  • วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน   (IF) สังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวร  (ตั้งแต่พ.ศ. 2554)
  • ห้องปฏิบัติการวิจัยจักรวาลวิทยาและความโน้มถ่วง (CGL) แห่ง IF   (ตั้งแต่พ.ศ. 2554)
  • สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านฟิสิกส์  (NEP) สังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวร  (พ.ศ. 2554)
  • เครือข่ายความร่วมมือทางฟิสิกส์ในสถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็ก SIP+ Consortium (ตั้งแต่ พ.ศ. 2557) และอนุกรมฝึกอบรมนักศึกษาฟิสิกส์และครุศาสตร์ฟิสิกส์  SIP+ Fest School Series (ตั้งแต่ พ.ศ. 2557)
  • ห้องปฏิบัติการวิจัย Mango Friday (Collegium Fisica Studiorum – CFS) (พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2563 spin off จาก IF มาก่อตั้ง NAS)
  • CFS Research Network Workshop (พ.ศ. 2559, พ.ศ. 2560)
  • CFS Cosmology Journal Club และ CFS Econophysics Journal Club (พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562)
  • อนุกรมคอลโลเควียมร่วมฟิสิกส์พิษณุโลก (ตั้งแต่ พ.ศ. 2561)

    การย้ายสำนักมาที่นครสวรรค์เมื่อ พ.ศ. 2563

     

  • ระหว่าง พ.ศ. 2560 – พ.ศ. 2562
    ผู้มีอำนาจของมหาวิทยาลัยนเรศวรในขณะนั้น ได้ใช้วิธีการปฏิบัติอันตรงข้ามกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้ที่ว่าจะส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย   โดยคณะบุคคลเหล่านี้ได้ปรับลดงบประมาณบริหารงานและกิจกรรมทั้งหมดของ IF ให้เหลือน้อยจนแทบจะดำเนินการต่อไปไม่ได้ หรือไม่ก็ทำให้การจัดสรรงบประมาณในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน (ซึ่งยังไม่ได้รับบรรจุเป็นพนักงานเงินแผ่นดินเลยแม้แต่รายเดียว) ของ IF ให้ล่าช้าไปอย่างมาก ส่งผลให้พนักงานวิตกต่อเสถียรภาพตำแหน่งงานจนลาออกและตัดโอนย้ายไปหน่วยงานอื่นๆ   มีความพยายามที่ประจักษ์ว่ามีการหน่วงรั้งขั้นตอนการขอตำแหน่งทางวิชาการของผู้ก่อตั้ง IF ในขั้นตอนของ กองบริหารงานบุคคล  การหน่วงรั้งขั้นตอนการเปิดหลักสูตรปริญญาโทฟิสิกส์ทฤษฎีสำหรับครู  การปัดตกการเสนอโครงการวิจัยทั้งภายในและภายนอกของผู้ก่อตั้ง IF ทุกโครงการ มีการหมกเม็ดการคัดลอกทำซ้ำโครงการของ IF ไปนำเสนอในนามของตนเอง  และที่ร้ายแรงคือแม้ผู้มีอำนาจของมหาวิทยาลัยนเรศวรชุดนั้นจะได้ให้สัญญาในที่ประชุมระดับคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรว่าจะไม่ยุบรวม IF เข้ากับคณะวิทยาศาสตร์ แต่เบื้องหลังได้พบหลักฐานว่าผู้มีอำนาจเองกลับเสนอให้สภามหาวิทยาลัยประเมิน IF ด้านรายได้เพื่อนำไปสู่การยุบ IF โดยไม่ดูผลงานตามพันธกิจของ IF วิกฤติการณ์ยุบ IF นี้ได้รับการเห็นชอบในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวรไปแล้วในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562  โดยได้มีการประกาศมติสภาฯ สู่สาธารณะ 45 วันหลังการประชุมซึ่งดูประดุจเจตนาจงใจประกาศล่าช้าเพื่อให้ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร IF ในขณะนั้นมีเวลาเหลือเพียงไม่ถึง 15 วันที่จะรวบรวมหลักฐานเสนออุทธรณ์ต่อสภาฯ โดยการเสนอเรื่องอุทธรณ์ต่อสภาฯก็ดูเหมือนจะติดขัดข้องไปหมด  อันเป็นตัวอย่างของการขาดซึ่งธรรมมาภิบาลที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจกำกับดูแลสำนักงานสภามหาวิทยาลัยได้ แต่ในที่สุดคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตของ IF ได้ร่วมกันรวบรวมเอกสารหลักฐานและรณรงค์ทางสังคมออนไลน์เพื่อคัดค้านมติสภาฯ (เช่น petition “Save IF” บน Change.org) และสามารถยื่นอุทธรณ์ได้สำเร็จจนสภาฯ มีมติทบทวนการยุบรวม IF เข้ากับคณะวิทยาศาสตร์ เหตุการณ์หลังจากนั้นคือมหาวิทยาลัยได้เสนอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของผู้ก่อตั้ง IF เข้าไปสู่คณะกรรมการผิดคณะกรรมการ  จะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตามแต่  โดยสำนักงาน สกอ. ต้องทวงถามเรื่องนี้มายังมหาวิทยาลัยด้วยหนังสือราชการ 2 ครั้งและการโทรศัพท์ติดต่อมายัง กองบริหารงานบุคคล อีก 5 ครั้งในช่วงระยะเวลา 7 เดือน ทางกองบริหารงานบุคคลและผู้มีอำนาจที่กำกับดูแลกองนี้ของมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงดำเนินการต่อ  ความล่าช้าในขั้นตอนสุดท้ายนี้ทำให้เสียเวลาไปอีก 7 เดือนจากที่มีการล่าช้าในทุกขั้นตอนอยู่แล้วแต่เดิม


    การไร้ซึ่งความโปร่งใสในมหาวิทยาลัยนเรศวรปรากฏขึ้นอีกอย่างน้อยก็ 2 กรณีที่บุคลากรสายวิชาการ 2 คนที่เป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจและทั้งคู่เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนเรศวรเช่นกันสามารถผ่านเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการขั้นสูงสุดได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่สามารถตรวจสอบผลงานทางวิชาการให้เป็นที่ประจักษ์ได้ในวงวิชาการในวงกว้าง รวมทั้งการได้มาซึ่งปริญญาเอกของทั้งคู่และบุคลากรในมหาวิทยาลัยอีกหลายคนก็ยังคงเป็นที่กังขาน่าสงสัยและไม่มีการตรวจสอบ สิ่งนี้สร้างความหม่นหมองแก่ผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในบรรทัดฐานทางวิชาการ มันคือยุคมืดอย่างแท้จริงของมหาวิทยาลัยนเรศวร


    ในช่วงเวลาเดียวกัน หนังสือ จักรวาลวิทยา ปฐมบท ของผู้ก่อตั้ง IF ซึ่งผ่านการประเมินเพื่อใช้ขอตำแหน่งศาสตราจารย์แล้วได้รับการปฏิเสธการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักพิมพ์ยังได้ยืนยันที่จะต้องให้การตีพิมพ์ครั้งที่สองของหนังสือ อุณหพลศาสตร์ ของผู้ก่อตั้ง IF  ที่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อนที่สำนักพิมพ์นี้ต้องผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ทั้งหมด ทั้งๆที่เคยได้ผ่านการประเมินไปแล้วในการตีพิมพ์ครั้งที่หนึ่งและได้จำหน่ายหมดไปแล้วจนขาดตลาดและได้รับการถามซื้อจากผู้อ่านจำนวนมาก โดยขณะนั้นผู้บริหารของสำนักพิมพ์เป็นเครือญาติใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจของมหาวิทยาลัยนเรศวร


    มีการประวิงและการตีกลับมาแก้ไขการเบิกจ่ายงบประมาณ IF ในหมวดเงินรายได้ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่หกคนอยู่ถึง 3 ครั้งในระยะครึ่งปี  ทำให้เจ้าหน้าที่ IF ได้รับเงินเดือนล่าช้าไปหนึ่งเดือน  คาดคะเนจากเจตนาได้ว่าเป็นการจงใจกระทำกับตัวบุคคลมากกว่ามุ่งเป้าไปที่องค์กร IF โดยรวม จากนั้น IF ก็ยังได้รับการประเมินอย่างเข้มข้นทางการเงินอีกหลายครั้งและตัดงบประมาณจนเหลือน้อยที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา



  • ปลายปี พ.ศ.  2562
    แนวคิดเรื่องการย้ายสำนักส่วนของผู้ก่อตั้ง IF ไปที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้รับการหารือในขั้นผิวเผินกับทางลพบุรี ภายหลังจากนี้ได้มีการหารือกับนักวิชาการอาวุโสระดับชาติหลายท่านกับผู้ก่อตั้ง IF ว่าในกรณีที่ IF ถูกยุบ จะมีที่ไปสร้างสำนักต่อสำหรับคณาจารย์ IF ที่สมัครใจออกไปร่วมสร้างสำนักนิเวศน์ทางวิชาการได้อีกหรือไม่  ผู้ก่อตั้ง IF ได้รับการสอบถามจาก 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยและจากสถาบันวิจัยระดับชาติในการพิจารณาย้ายทีมคณะวิจัยไปสังกัดองค์กรเหล่านั้น



  • พฤษภาคม พ.ศ. 2563
    ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมหิดล (กบม.) เชิญ ศ.ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย ไปเล่าเรื่องแนวคิดการสร้าง และพัฒนาการของ IF แต่แรกตั้งในอดีตและแนวคิดการสร้างสำนักคิดทางฟิสิกส์ทฤษฎี  เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ) ในฐานะประธาน กบม. ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลขอเชิญอาจารย์บุรินทร์ให้เกียรติมาร่วมงานกับมหาวิทยาลัยเรา โดยอาจารย์สามารถเลือกทีมงานของอาจารย์มาด้วยได้และทางมหิดลจะสนับสนุนด้านการวิจัยเพื่อให้อาจารย์ได้ทำงานสร้างทีมวิจัยอย่างเต็มที่และให้สิทธิประโยชน์เป็นที่พอใจของอาจารย์อย่างแน่นอน”
     


  • 21 กันยายน พ.ศ. 2563
    ศ.ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย ลาออกจากการเป็นพนักงานสายวิชาการของมหาวิทยาลัยนเรศวร   บรรยากาศขณะนั้นได้รับการกล่าวถึงโดย Spaceth.co ใน บทความนี้  คาดว่าการลาออกจากมหาวิทยาลัยนเรศวรในขณะนั้นของ ศ.ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย น่าจะทำให้การคุกคามต่อ IF เบาบางลงและทำให้ IF อยู่รอดต่อไปได้



  • 23 กันยายน พ.ศ. 2563
    ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย บรรจุเข้าทำงานในตำแหน่ง “อาจารย์” ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการตรวจสอบปรับตำแหน่งเป็น “รองศาสตราจารย์” ย้อนหลังและจากนั้นได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในสาขาฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ย้อนหลังไปตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ครอบคลุมเวลาที่สังกัดมหาวิทยาลัยที่พิษณุโลกและสภามหาวิทยาลัยมหิดลก็อนุมัติตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาฟิสิกส์เชิงทฤษฎีย้อนหลังตั้งแต่วันแรกบรรจุที่มหิดล


    บุรินทร์ กำจัดภัย ได้ให้สัญญากับสภามหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะสร้างศูนย์วิจัยแห่งใหม่ทางฟิสิกส์ทฤษฎีที่เป็นเลิศขึ้นที่นครสวรรค์ การมาที่นี่จึงไม่ใช่การลี้ภัย หากแต่เป็นขอบฟ้าใหม่


    แต่เดิมมีคณาจารย์ IF แสดงเจตจำนงค์ที่จะย้ายตาม บุรินทร์ กำจัดภัย มาที่นครสวรรค์อีก 7 คน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนใจคงเหลือเพียง Dr. Pradeep Bahdola, Dr. Kumar Abhinav และ Dr. Nandan Roy ที่ติดตามมาทีหลังในปี พ.ศ. 2564 จึงถือว่าเป็นการย้าย ห้องปฏิบัติการวิจัย Collegium Fisica Studiorum – CFS จาก IF มาก่อตั้งใหม่เป็น NAS


  • 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
    สภามหาวิทยาลัยมหิดลประกาศจัดตั้ง ศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาตินครสวรรค์ “Nakhonsawan Studiorum for Advanced Studies” หรือ NAS ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล


    ปี 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวรมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น มีการเปลี่ยนตัวอธิการบดี
    คณาจารย์ของ NAS ตระหนักว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรมีบุญคุณต่อคณาจารย์ชุดแรกของ
    NAS เป็นอย่างสูง แต่คณาจารย์ชุดแรกของ NAS ยืนยันที่จะรักษาสัญญาที่ได้ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะสร้างศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีที่นครสวรรค์ให้ดีให้ได้



    การก่อร่างสร้างบ้านใหม่เป็นภารกิจที่ยากลำบากในหลายๆมิติ เช่น คณาจารย์ต้องห่างครอบครัวที่พิษณุโลก  ต้องไร้ซึ่งแขนขาบริวารและศิษย์ในระยะแรก ต้องนอนเต็นท์ในห้อง LAB ในปีแรก  ต้องไปเริ่มงานวิชาการสายบริสุทธิ์ในวิทยาเขตห่างไกลและยังขาดโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ แน่นอนว่าย่อมยากลำบากกว่าการอยู่ใน safe zone อันสุขสบายที่พิษณุโลก    ความลำบากระหว่างเส้นทางที่ได้ไปบุกเบิก มันคือส่วนหนึ่งของความสุขที่จะรู้สึกได้เมื่อเห็นมันได้เติบโตงอกงาม เช่นกับที่ได้มองกลับไปที่ IF ณ วันนี้ 



    ปัจจัยช่วยด้านดีในการย้ายคือได้อยู่ในสังคมที่ดี บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลที่นครสวรรค์ล้วนเป็นกัลยาณมิตรและให้การสนับสนุนกันอย่างจริงใจ และยังได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของมหิดลในการทำภารกิจนี้อย่างเต็มที่ 



    บุรินทร์ กำจัดภัย: บันทึกความทรงจำ
    เขียนเมื่อ ศุกร์ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
    ที่ NAS 1