มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
และสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาภูมิภาค

6 กันยายน 2563

              ย้อนเวลาไปสิบกว่าปีก่อน ใครจะเชื่อว่าเส้นทางจากถนนพหลโยธิน ก่อนเข้าตัวเมืองนครสวรรค์ เลี้ยวขวาเข้าสู่บริเวณป่าบนเนินภูเขาที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวของเกษตรกรตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรีมาเป็นเวลานาน ก่อนจะถูกพลิกผันให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ระดับอุดมศึกษาและการบริการสาธารณสุขรองรับสังคมสูงวัย ด้วยการออกแบบผังพื้นที่และอาคารสถานที่ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สวยงามกลมกลืนธรรมชาติ สอดคล้องกับอุดมการณ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม และการใช้งาน ด้วยกระบวนการทำประชาคม คนในชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมออกทรัพยากร เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยของชุมชนอย่างแท้จริง โดยได้ผลิตบัณฑิตด้านสาธารณสุข การประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม พยาบาล และเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง พร้อมไปกับการให้บริการผู้ป่วยนอกแบบองค์รวมของศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์

              ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทหลักสูตรแรก หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยมีผู้ร่วมเรียนรู้จำนวน 54 คน “หลักสูตรนี้มุ่งตอบสนองต่อผลประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง และมุ่งสร้างคุณค่าและความหมายของวิทยาเขตนครสวรรค์ ในฐานะมหาวิทยาลัยของชุมชนให้ประจักษ์” รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ประยุกต์วงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและพัฒนาหลักสูตร ฯ บอกเล่าให้ทีมจดหมายข่าววิจัยมหิดล นครสวรรค์ พร้อมกับตอบคำถามต่าง ๆ ที่ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหลักสูตรเท่านั้น หากรวมถึงความเป็นมาของวิทยาเขต ที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ทำให้บุคลากรแห่งนี้ได้มีงานทำ ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งในการทุ่มเทสุดกำลังสร้างสรรค์จัดการศึกษาแนวใหม่ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อชาวนครสวรรค์และประชาชนชาวไทย อีกทั้งยังเสนอจินตนาการใหม่ Reimagination สำหรับการดำเนินงานของหน่วยงานในทศวรรษต่อไป

Q: ทำไมจึงเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ?

A: “ทำไม” เป็นคำถามสำคัญที่ทุกคนควรใช้ เพื่อทบทวนถึงสิ่งตนกำลังทำ และจะถูกนำมาใช้มากในการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรนี้ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ขอเล่าบริบทที่มาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น

              หลังจากตนเองได้ทดลองทำงานวิชาการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในฐานะนักวิชาการอิสระมาระยะหนึ่ง พบว่าสามารถทำได้ แต่ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว จึงหันกลับเริ่มชีวิตนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยเลือกมหาวิทยาลัยที่สร้างหลักสูตรที่ทำให้บัณฑิตสามารถรับใช้สังคมด้วยการทำงานในพื้นที่ เมื่อวิทยาเขตเปิดตำแหน่งอาจารย์ จึงสมัครเข้ามา เพราะเห็นว่าเป็นวิทยาเขตที่มุ่งปฏิรูปการศึกษาด้วยการจัดการศึกษาแนวใหม่ เริ่มต้นชีวิตอาจารย์ใหม่ในปลายปี 2559 โดยได้สอน และร่วมออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน รวมทั้งช่วยให้แนวคิดและร่วมจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง ที่เน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำ ก่อนไปทำวิจัยเรื่องการประกอบการกับพุทธเศรษฐศาสตร์ ด้วยทุนฟุลไบร์ทที่สหรัฐอเมริกาในปีถัดมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้รับประสบการณ์ทั้งการวิจัย การสอนแบบบูรณาการที่เน้นการลงมือทำ และบริการวิชาการของวิทยาลัยแบบสัน สถาบันอุดมศึกษาที่สอนการประกอบการเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเป็นเวลามากกว่ายี่สิบปี

              อีกทั้งยังเป็นเวลาที่ได้ใคร่ครวญถึงการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องราวของวิทยาเขตนครสวรรค์ ที่มิได้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการขยายโอกาสไปสู่ภูมิภาคเท่านั้น ประชาชนและองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดได้ให้การสนับสนุน ในปี 2549 ทันทีที่ทราบว่าทางวิทยาเขต กำลังหยุดการจัดการเรียนการสอน เตรียมการ นำนักศึกษาไปเรียนที่วิทยาเขตอื่น งดรับนักศึกษาใหม่และโยกย้ายบุคลากรไปทำงานที่ส่วนงานอื่น อันเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมที่ตั้งวิทยาเขตในขณะนั้น (บึงเสนาท) คนนครสวรรค์ โดยเฉพาะ กลุ่มนครสวรรค์สร้างสรรค์สังคม  (YCL: Young Community Leaders) ได้เข้าพบปรึกษาหารือนายกสภามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับอนาคตของวิทยาเขตนครสวรรค์ และได้ร่วมจัดตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อช่วยกันศึกษาหาสถานที่จัดตั้งวิทยาเขตใหม่ อีกทั้งยังช่วยจัดหาสถานที่ ระดมทุนก่อสร้าง เพื่อให้วิทยาเขตนครสวรรค์ได้เปิดดำเนินอย่างมีทิศทางชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยการเปิดรับนักศึกษาในปีพ.ศ. 2555 ณ ที่ตั้งวิทยาเขตตำบลเขาทองในปัจจุบัน

เมื่อนำคำถาม “ทำไม” กลับมาถาม Q: แล้วทำไมแกนนำคนนครสวรรค์เหล่านั้นจึงเข้ามาช่วยเหลือทำให้วิทยาเขตให้มีลมหายใจอีกครั้ง และหากพวกเขาไม่เข้ามา อะไรจะเกิดอะไรขึ้น ?

A: คงเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้น หากยังห่วงใยชุมชน รักษ์แผ่นดินเกิด เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์บ้านเมืองของพวกเขา สอดคล้องกับความหมาย “พลเมือง (พละ+เมือง = กำลังเมือง) เชิงรุก (Active Citizen)” บทบาทของประชาชนในทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกำลังเมืองที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ พวกเขาจึงเข้ามาช่วยรักษาสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาให้ดำรงอยู่ และหากแกนนำคนนครสวรรค์เหล่านั้นไม่ได้เข้ามา วิทยาเขตนครสวรรค์ก็คงต้องปิดตัวลง ตนเองและเพื่อนร่วมงานทุกคนที่วิทยาเขตคงไม่ได้มีงานทำที่นี้

เมื่อนึกถึงเรื่องราวนี้ มีคำถามผุดขึ้นมาในใจ Q: แล้วตนเองจะมีส่วนเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการทำงานของวิทยาเขต เพื่อให้เป็นสิ่งดีงามที่พวกเขา (แกนนำคนนครสวรรค์) รักและปกปักรักษาได้หรือไม่ อย่างไร ?

A: การจัดการศึกษาแบบปฏิรูปที่เป็นทิศทางของวิทยาเขต คงเป็นคำตอบได้ แต่ยังไม่ชัดเพียงพอจนเป็นธงนำที่ถูกปักขึ้นจนเห็นเด่นชัดเพื่อให้องคาพยพในวิทยาเขตได้เคลื่อนเข้าสู่หมุดหมายนั้น จากประสบการณ์ที่ได้เริ่มงานช่วงสั้น ๆ ในท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ที่ขาดธงนำ ได้เห็นว่าคณาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนโดยส่วนใหญ่ แม้ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อนหรือมีน้อย ต่างมีความพยายามร่วมพัฒนาวิทยาเขต หากยังเป็นการทำงานลักษณะเชิงรับ เช่น รอรับเรื่องที่เข้ามา หรือรองานตามปฏิทิน/routine เพื่อดำเนินการ หรือในการประชุมก็หมดเวลาไปกับเรื่องแจ้งเพื่อทราบหรือพิจารณาเรื่องที่เข้า เป็นต้น มากกว่าเชิงรุก อันเป็นงานสร้างสรรค์ พัฒนางานเดิมให้ดียิ่งขึ้น และติดตามการดำเนินงานเพื่อให้ไปสู่หมุดหมายนั้น

เมื่อธงยังไม่ได้ถูกชัก หมุดหมายยังไม่ได้ถูกปัก Q: ในฐานะบุคลากรคนหนึ่ง การทำงานในอนาคตเพื่อตอบแทนคุณงามความดีของคนนครสวรรค์ ควรเป็นอย่างไร ?

A: เมื่อนำแนวคิดการบริหารจัดการของโลกตะวันตกมาใช้คงสามารถหาคำตอบได้ไม่ยากคือ กำหนดหมุดหมาย/ธงให้ชัด คำถามที่ตามมาคือในภาวะโลกปัจจุบันที่มีลักษณะ VUCA มากขึ้น โดย Volatility ความผันผวนสูง, Uncertainty ความไม่แน่นอนสูง, Complexity ความซับซ้อนมากขึ้น และ Ambiguity ความคลุมเครือไม่สามารถคาดเดาผลได้ เราจะกำหนดธงที่ชัดเจนอย่างนั้นได้จริงหรือ ยิ่งสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบัน

              โชคดีที่ตนเองได้ทบทวนเรื่องราวข้างต้น ในช่วงการทำวิจัยการประกอบการกับพุทธเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นโอกาสของแนวคิดการบริหารจัดการตามแนวทางพุทธเศรษฐศาสตร์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการตะวันตกต่างยอมรับข้อจำกัดของศาสตร์พวกเขาที่มีลักษณะกลไกมุ่งเป้าหมายชัดเจนตายตัว เช่น ผลกำไร หรือความพึงพอใจในการให้บริการ จนหลายครั้งทำให้เกิดความพยายามที่มุ่งสู่เป้าหมายจนเกิดการดำเนินงานที่ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเห็นว่าพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นแนวคิดทฤษฎีใหม่ที่อาศัยภูมิปัญญาตะวันออก แนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า น่าจะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาในอนาคต ที่สำคัญ หัวใจของพุทธศาสนา คือ “สิกขา” ระบบการศึกษา จึงต่างจากศาสนาอื่น เพราะระบบศาสนาส่วนใหญ่เป็นระบบความเชื่อ การกำหนดหมุดหมายที่ชัดเจนจนรู้แม้กระทั่งว่าธงสีหรือลวดลายอะไร จึงอาจไมสอดคล้องกับท่าที/กระบวนการเรียนรู้ในพุทธศาสนา น่าสนใจว่าแนวทางการสอนวิชาการประกอบการในวิทยาลัยแบบสันใช้ตรรกะทั้งแบบวิทยาศาสตร์/พยากรณ์/วางเป้าหมาย และแบบสร้างสรรค์จากทรัพยากรที่มี ด้วยวิธีการที่เรียกว่า การคิดแบบประกอบการและการลงมือทำ (Entrepreneurial Thought & Action: ET&A) การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ด้วยวงจร ET&A คือ ACT: เริ่ม ลงมือทำขั้นเล็ก ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจากทรัพยากรที่มีอยู่ (ตรรกะสร้างสรรค์) Learn: หยุด ดูสิ่งที่ได้เรียนรู้ และ Build:  นำ ผลการเรียนรู้นั้น สร้างการลงมือทำครั้งต่อไป เป็นวงจรการเรียนรู้จากการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับท่าที “สิกขา” ของพุทธ และช่วยทำให้เห็นแนวทางนำพุทธเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการทำงานในอนาคต จากหมุดหมายที่ชัดคือการเป็นตัวอย่างการปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาค เป็นองค์กร/หน่วยงานที่ชาวนครสวรรค์ได้ภาคภูมิใจ ด้วยการสอน วิจัย และบริการวิชาการ ที่ใช้กระบวนการสิกขา คือการทดลองลงมือทำจากทรัพยากรที่มีอยู่ เรียนรู้ แล้วปรับปรุงให้เข้าสู่เป้าหมายนั้น จึงวางแผนนำการจัดการเรียนสอนการประกอบการตามแนวทางดังกล่าวมาใช้จัดการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อเรียนรู้จากการลงมือทำ และปรับปรุงการเรียนการสอนในปีต่อไป

              โชคดีที่เมื่อกลับถึงประเทศไทยได้เพียง 2 วัน กลางปี 2560 ก็ได้รับโอกาสจากสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ให้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาแผนพัฒนาจังหวัด โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์หลายท่านที่เข้ามาร่วมเป็นทีมงานทำให้วิทยาเขตฯ ได้มีโอกาสทำหน้าที่รับใช้จังหวัด ทันทีที่ส่งรายงาน ฯ เรียบร้อย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์) ก็ได้เชิญให้เข้าไปปรึกษาเรื่องการประเมินแผนที่ผ่านมา ตามวงจรแผนทั่วไปคือ วางแผน ได้รับงบจัดสรร ดำเนินการ ประเมินแผน

“Q: อย่างนี้ก็เรียกว่า งานประสบความสำเร็จสิคะ เพราะได้รับงานต่อเนื่อง” ทีมจดหมายข่าววิจัยมหิดล นครสวรรค์ตั้งคำถามขึ้นทันที อันแสดงให้เห็นผู้ถามเริ่มเข้าใจ การทำงาน (ถาม) เชิงรุก

A: หากคิดแบบนั้น ก็เป็นการคิดการบริหารจัดการของโลกตะวันตกแบบเก่า ที่ใช้การซื้อซ้ำเป็นการวัดความสำเร็จของเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ผลกำไร ซึ่งไม่ใช่คำตอบบนฐานคิดพุทธเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่ได้มองผู้เกี่ยวข้องในฐานะเพียงผู้ซื้อหรือผู้ขาย หากอยู่ในฐานะมนุษย์ที่ช่วยกันแก้ปัญหาและพัฒนาโลกใบนี้ร่วมกัน จึงได้เสนอการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดนครสวรรค์ในด้านแผนทั้งกระบวนการด้วยหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ “ข้าราชการ นครสวรรค์ น่าอยู่” เป็นหลักสูตรเรียนรู้เดือนละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องในระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ในตอนนั้นจึงจัดตั้งสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาภูมิภาค ส่วนงานย่อยในโครงสร้างวิชาการและหลักสูตร อันเป็นการสร้างทีมทำงานจัดการเรียนการสอนพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวเป็นพลเมืองเชิงรุกรับใช้สังคม เช่นเดียวกับแกนนำคนนครสวรรค์เหล่านั้น โดยมีนวัตกรรมเป็นรูปธรรมของผลการเรียนรู้นั้น ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ผู้เรียนรู้ทั้งหมดต่างได้ความรู้จากการอบรมและนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ทำงานเชิงรุกร่วมช่วยจังหวัดนครสวรรค์ในฐานะ “Dream Team” ร่วมทำแผนพัฒนาจังหวัดให้มีความก้าวหน้าทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์จนถึงปัจจุบัน

              โชคดีอีกเช่นกัน พอจบการอบรมได้สักระยะหนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. อภิชัย พันธเสน ที่เคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในสมัยเรียนปริญญาโทและเอก และเคยเป็นผู้บริหารที่ร่วมกันปฏิรูปการศึกษาด้วยการนำพุทธธรรมเข้ามาบริหารงานในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ชักชวนให้มาร่วมทีมวิจัยการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการอธิบายจากฐานคิดพุทธเศรษฐศาสตร์ โดยตนเองเสนอทำวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปด้วย ผลการวิจัยระยะที่ 1 ได้เห็นภาพนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมสะท้อนการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรที่อยู่ในระดับสูงสุด จากการศึกษาอปท. จำนวน 6 แห่ง เมื่อได้รับโอกาสให้ทำวิจัยระยะต่อมา จึงดำเนินการวิจัยในรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมด้วยการพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาใช้เรียนรู้กับผู้บริหารอปท. จำนวน 18 แห่ง เป็นการเรียนรู้แบบต่อเนื่องคล้ายกับหลักสูตร “ข้าราชการ นครสวรรค์ น่าอยู่” เมื่อดำเนินการวิจัยไปได้ระยะหนึ่ง เห็นผลการเรียนรู้และการนำความรู้ไปใช้ของผู้บริหารอปท. จึงได้นำแนวทางการพัฒนาหลักสูตรนี้มาวางแผนเปิดหลักสูตรปริญญาโทที่เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคนทำงานทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่มีหัวใจรักบ้านรักเมือง

Q: ทราบว่ามีการพูดกัน ตอนที่อาจารย์เอาหลักสูตรนี้มาเสนอว่า หลักสูตรนี้ไม่น่าจะเปิดได้ ?

A: ปรากฏการณ์ “การพูดกัน” แสดงว่าบุคลากรวิทยาเขตให้ความสนใจในการพัฒนาวิทยาเขต แต่ที่ยังทำงานเชิงรับกันอยู่ อาจติดขัดหลายอย่าง เมื่อมองปรากฏการณ์นี้ไปให้ลึก ความเห็นข้างต้นก็สะท้อนข้อเท็จจริงอยู่ไม่น้อย เพราะอาจารย์ของวิทยาเขตโดยส่วนใหญ่ นอกจากมีประสบการณ์ชีวิตน้อยแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้แบบเก่าที่เน้นการวิจัยในห้อง Lab ชุมชนหรือท้องถิ่นจึงเป็นเพียงสถานที่ในการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเองและหน่วยงาน หรือนำเสนอเป็นนโยบายให้รัฐบาลระดับประเทศนำมาใช้พัฒนาประเทศ ถ้าหากเกิดขึ้นได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ยากและเกิดขึ้นไม่ง่าย ขณะที่งานวิจัยในลักษณะสร้างการเปลี่ยนแปลง กลับเป็นงานวิจัยที่มีนักวิชาการประเทศไทยมีความรู้หรือสนใจในวงจำกัด ทำให้อาจารย์ของวิทยาเขตมีประสบการณ์ไม่สอดคล้องกับหลักสูตร แต่โชคดีที่มีคนนครสวรรค์มาเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ท่านได้ให้ความอนุเคราะห์อาจารย์ของท่านเข้ามาช่วยเป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตร ทำให้หลักสูตรสามารถดำเนินการไปได้ และได้รับคำชื่นชมจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อครั้งที่เข้าไปเสนอขออนุมัติหลักการเปิดหลักสูตรใหม่ว่าเป็นหลักสูตรที่ช่วยทำให้มหิดลที่มุ่งสู่ Global แล้วเท้าติดดิน และอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ กรรมการสภามหาวิทยาลัย นอกจากแสดงความชื่นชมแล้วยังได้เสนอเป็นอาจารย์พิเศษของหลักสูตรด้วย

Q: เห็นอาจารย์พูดเรื่อง “โชคดี” อยู่เรื่อย ๆ เหมือนต้องอาศัยสิ่งนี้ คล้ายกับไม่ให้ความสำคัญเรื่องแผนงานล่วงหน้า ?

A: “โชคดี” หากเกิดขึ้นย่อมเป็นเรื่องดี แต่ชาวพุทธเรา ไม่ได้นั่งรอ หรือบนบานอ้อนวอน เพราะการกระทำแบบนั้นคือการได้รับอิทธิพลของความโลภ คือมุ่งอยากได้ แต่ด้วยท่าที สิกขา การเรียนรู้จากการลงมือทำ ซึ่งมาจากการวางแผนแต่ไม่ใช่แผนแบบกว้าง ๆ ยืดหยุ่นไม่ตายตัว จึงมุ่งลงมือทำสร้างเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม โดยไม่คาดหวังผล เมื่อเกิดผลจึงนับว่าเป็นโชคดี ที่ทำมาหลายอย่าง ไม่มีโชคก็มีอยู่มาก แต่ไม่ได้เล่า ได้เรียนรู้นำไปปรับใช้ในการลงมือทำเรื่องอื่น

              ดังนั้น หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นคำย่อของ นวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ ที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามฐานองค์ความรู้เดิมหรือสนใจ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือด้านวิทยาศาสตร์เกษตรและอาหาร หรือด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือด้านการจัดการบริหารรัฐกิจ ให้คนทำงานได้ upskill และ reskill จากสิ่งที่มีอยู่ ได้เข้าถึงความรู้และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้อง เพื่อ สร้างการเปลี่ยนแปลงจากงานประจำที่ทำอยู่ ด้วยการทำงานเชิงรุก เป็นการเปลี่ยนแปลง (Change) การทำงานที่นำไปสู่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จนเป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้เรียน

  • ได้มีความรู้ในหลักวิชาการสาขานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยเริ่มจากการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก งานประจำที่มีประสิทธิภาพ การทำงานเชิงรุก สู่การรังสรรค์สิ่งใหม่ที่เรียกว่านวัตกรรม รูปธรรมที่สะท้อนการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผลผลิตที่ยั่งยืน (ทั้งคุ้มค่า และต่อเนื่อง) ผลลัพธ์อันเป็นความสุขของคนในองค์กรและชุมชน ที่ได้ร่วมกันสร้างผลในที่สุดคือประโยชน์สุข ความสุขจากการเสียสละ ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ให้ประชาชนชาวไทย
  • สามารถคิดวิเคราะห์เชิงระบบ สร้างสรรค์ องค์รวม บูรณาการข้อมูลในการตัดสินใจ ทั้งการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ การคิดสร้างสรรค์ การคิด/มององค์รวม การคิดบูรณาการโดยเฉพาะข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งช่วยให้เท่าทันสถานการณ์ เข้าใจปรากฏการณ์ปัญหาอย่างลึกซึ้ง เห็นมุมมองใหม่ วางกลยุทธ์เชิงอนาคตได้
  • สามารถปรับแผนการเรียนตามความต้องการผู้เรียนได้ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงข้อ 1 และระบบคิด ในข้อ 2 ก้าวข้ามวิธีการเรียนรู้แบบเดิม หลักสูตรนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้สร้างนวัตกรรมบนฐานความรู้เดิม สอดคล้องกับบริบทการทำงาน โดยผู้เรียนสามารถปรับแผนการเรียนตามความต้องการและให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงได้
  • เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง และสภาพแวดล้อมการทำงาน เมื่อผู้เรียนสามารถประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหลักสูตรนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงเป็นการระเบิดจากภายใน เกิดทัศนคติเชิงบวก หรือ Soft Power กระบวนการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง และสภาพแวดล้อมการทำงาน จากการลงมือทำและเรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • พัฒนาตนเอง สานพลังความร่วมมือ สร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรม ด้วยการเรียนรู้จากการลงมือทำของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงงานประจำ และการเรียนรู้แบบลงมือทำในโครงงาน (Learning Action Project) ร่วมกับกลุ่มผู้เรียน ย่อมทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง สานพลังความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้เรียน และเข้าใจกระบวนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อร่วมกันสร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น

Q: สิ่งที่อาจารย์เพิ่งเล่านี้ ชัดเจนมากว่าผู้เรียนจะได้เรียนรู้อะไร แต่กลุ่มเป้าหมายคนทำงานของอาจารย์ คือผู้มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อยสามปี ขณะที่คนที่สนใจเรียนโท ส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตจบใหม่เพื่อหวังมีความรู้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสการหางานทำและได้รับเงินเดือนสูงขึ้น ?

A: ที่พูดมาเป็นข้อทักท้วงของคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรของบัณฑิตวิทยาลัยในทุกครั้งที่หลักสูตรนี้เข้า อาจารย์ที่เป็นกรรมการท่านหนึ่งถึงกลับขอให้ตัดคุณสมบัติข้อนี้ออก นอกจากนี้ผู้บริหารของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่เข้ามาช่วยร่างหลักสูตรนี้ และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลักสูตร ยังห่วงใยว่าจะไม่มีคนเรียน หากคงคุณสมบัตินี้ไว้ ตนเองก็น้อมรับความห่วงใยเหล่านั้น และยอมรับว่ามีโอกาสความเป็นไปได้ แต่คงต้องขอให้กลับไปอ่านคำตอบก่อนหน้า ถึงทิศทางของวิทยาเขตนี้ที่เน้นการปฏิรูปการศึกษา ความคาดหวังของหลักสูตรที่เน้นสร้างพลเมืองเชิงรุก (Active Citizen) ด้วยการทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะสร้างเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ย่อมเข้าใจเหตุผลต่อการกำหนดคุณสมบัตินี้ แน่นอนว่า กระบวนการจัดการหลักสูตรต้องเน้นสร้างภูมิคุ้มกัน มีเหตุผล พอประมาณ บนเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ตามหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งบริหารโดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จึงบูรณาการเรียนการสอน กับบริการวิชาการ ด้วยการจัดการเรียนการสอนในระบบ MAP (Mahidol Apprentice Program) C (Credits) ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดแพลตฟอร์มไว้ที่มุ่งเน้นให้ผู้ศึกษาพัฒนาทักษะสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 โดยผู้เรียนสามารถเข้ามาเรียนรู้ในลักษณะ Workshop โดยได้หน่วยกิตในรายวิชาต่าง ๆ ของหลักสูตร เมื่อพร้อมมาเรียนปริญญาโท หรือพร้อมมาทำสาระนิพนธ์ หรือวิทยานิพนธ์จากผลงานนวัตกรรมที่ตนเองได้ร่วมสร้างขึ้น ก็สามารถมาลงทะเบียนเรียนได้ โดยสามารถเก็บรักษาหน่วยกิตเหล่านั้นได้ตลอดชีวิต กระบวนการศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีผู้เรียนที่เป็นบุคลากรด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์และเขตสุขภาพที่ 3 และบุคลากรจากอปท. และภาคประชาสังคม จำนวน 54 คน ได้เข้ามาร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากการร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น อีกทั้งยังบูรณาการกับงานวิจัย กระบวนการจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษานี้ จึงเป็นการวิจัยในชั้นเรียนด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาว่ารูปแบบการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในภูมิภาคนี้ให้เกิดขึ้น อันเป็นองค์ความรู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงพัฒนาท้องถิ่น จากการลงมือทำ (จัดการเรียนการสอนด้วยการบริการวิชาการ) เรียนรู้ (วิจัย) นำผลการเรียนรู้มาปรับปรุงการลงมือทำครั้งต่อไป (สอน บริการวิชาการ และวิจัย) เพื่อช่วยขับเคลื่อนวิทยาเขตไปในทิศทางที่คนนครสวรรค์ได้ร่วมภาคภูมิใจ ซึ่งวิทยาเขตสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการการดำเนินงานในทศวรรษต่อไป