ทำไมจึงควรเรียน
หลักสูตร ศศม. สาชาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ?

              โลกทุกวันนี้ มีลักษณะที่เรียกว่า VUCA มากขึ้น โดย Volatility ความผันผวนสูง Uncertainty ความไม่แน่นอนสูง Complexity ความซับซ้อนมากขึ้น และ Ambiguity ความคลุมเครือไม่สามารถคาดเดาผลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบัน ตอกย้ำ อนาคตมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ท่ามกลางเทคโนโลยีพลิกผัน (Disruptive Technology) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในปัจจุบัน

              กรอบคิด (Mindset) ความเชื่อ (Beliefs) ข้อสมมุติ (Assumption) และวิธีการทำงานแบบเดิม อาจไม่ทันและไม่สามารถรับมือกับภาวะดังกล่าวได้ ดังที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวในทำนองว่า

การทำสิ่งเดิมซ้ำ แล้วหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างย่อมเป็นได้ยาก

การเปลี่ยนแปลง (Change) การทำงานที่นำไปสู่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จนเป็นนวัตกรรม จึงเป็นทางออกที่สำคัญและจำเป็น

             หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จึงเป็นหลักสูตรที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ คนทำงานได้ upskill & reskill จากสิ่งที่มีอยู่ ได้เข้าถึง และพัฒนาทักษะในด้านนี้ โดยผู้เรียน

ได้มีความรู้ในหลักวิชาการสาขานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

  • นวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ของหลักสูตรนี้ ย่อมาจาก “นวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” องค์ความรู้ในหลักสูตรนี้ จึงเริ่มจากการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก งานประจำที่มีประสิทธิภาพ การทำงานเชิงรุก สู่การรังสรรค์สิ่งใหม่ที่เรียกว่านวัตกรรม รูปธรรมที่สะท้อนการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผลผลิตที่ยั่งยืน (ทั้งคุ้มค่า และต่อเนื่อง) ผลลัพธ์อันเป็นความสุขของคนในองค์กรและชุมชน ที่ได้ร่วมกันสร้างผลในที่สุดคือประโยชน์สุข ความสุขจากการเสียสละ ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ให้ประชาชนชาวไทย

สามารถคิดวิเคราะห์เชิงระบบ สร้างสรรค์ องค์รวม บูรณาการข้อมูลในการตัดสินใจ

  • การเปลี่ยนแปลงในข้อ 1 ต้องอาศัยการพัฒนาความสามารถและทักษะการคิดแบบต่าง ๆ นับตั้งแต่ การคิดวิเคราะห์เชิงระบบ การคิดสร้างสรรค์ การคิด/มององค์รวม การคิดบูรณาการโดยเฉพาะข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ระบบคิดดังกล่าวช่วยให้เท่าทันสถานการณ์ เข้าใจปรากฏการณ์ปัญหาอย่างลึกซึ้ง เห็นมุมมองใหม่ วางกลยุทธ์เชิงอนาคตได้

สามารถปรับแผนการเรียนตามความต้องการผู้เรียนได้

  • กระบวนการเรียนรู้เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงข้อ 1 และระบบคิด ในข้อ 2 ย่อมเกิดขึ้นได้ยากจากวิธีการเรียนรู้แบบเดิม หลักสูตรนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้สร้างนวัตกรรมบนฐานความรู้เดิม หรือสอดคล้องกับบริบทการทำงาน ผู้เรียนจึงสามารถปรับแผนการเรียนตามความต้องการและให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงได้

เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง และสภาพแวดล้อมการทำงาน

  • บนฐานการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหลักสูตรนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงเป็นการระเบิดจากภายใน หรือ Soft Power กระบวนการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง และสภาพแวดล้อมการทำงาน จากการลงมือทำและเรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาตนเอง สานพลังความร่วมมือ สร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรม

  • การเรียนรู้จากการลงมือทำของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงงานประจำ และการเรียนรู้แบบลงมือทำในโครงงาน (Learning Action Project) กับกลุ่มผู้เรียน ย่อมทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง สานพลังความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้เรียน และเข้าใจกระบวนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อร่วมกันสร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น