หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างพอเพียง (หลักสูตรพหุวิทยาการ)
มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

ปรัชญา ความสำคัญ ของหลักสูตร

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างพอเพียงหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการที่เน้นให้มหาบัณฑิตสร้างนวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างพอเพียง ที่ประกอบด้วย นวัตกรรม (Innovation) ที่ไม่เป็นเพียงสิ่งใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น (New thing or Change) หากยังต้องก่อให้เกิดคุณค่าใหม่ (New Value) จากมีสิ่งนั้น ให้กับ สังคม (Social) อันเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) อย่างพอเพียง หรือ ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาที่เป็นสายกลาง จากความพอประมาณที่เกิดจากการรู้จักตน ความมีเหตุผล ที่เป็นวิเคราะห์สืบสาวหาเหตุผลและมุ่งสร้างเหตุที่ดี ด้วยการดำเนินกิจกรรมอย่างมีสติกำกับสร้างภูมิคุ้มกัน บนฐานความรอบรู้ คู่ฐานคุณธรรมในการดำรงชีวิต สร้างประโยชน์สุข ความสุขของตนและของคนในสังคมที่ร่วมสร้างประโยชน์ด้วยกัน บนฐานองค์ความรู้เดิมหรือที่สนใจ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง และมีลักษณะการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalized Education) ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการกับการทำงานในองค์กรของผู้เรียน (Work Integrated Learning) จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์เกษตรและอาหาร ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และด้านการจัดการบริหารรัฐกิจ ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความสามารถในการประกอบอาชีพ พัฒนาการทำงานภายในองค์กร พัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. ประพฤติปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  2. มีความรู้ที่จำเป็นและเพียงต่อการนำไปปฏิบัติ ต่อยอด/เชื่อมโยงความรู้ และสร้างนวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างพอเพียง
  3. มีความสามารถคิดวิเคราะห์เชิงระบบ ความสามารถคิดสร้างสรรค์ สังเคราะห์องค์รวม บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลในการตัดสินใจ
  4. มีทักษะการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำ การจัดการความรู้ สานพลังความร่วมมือผู้เกี่ยวข้อง และมีภาวะผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างพอเพียง
  5. มีบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และค่านิยม มุ่งประโยชน์สุขตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากการประพฤติปฏิบัติ มีความรู้ มีความสามารถ และมีทักษะในข้อก่อนหน้า และการยืนหยัดพัฒนาบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และค่านิยม ที่มีอยู่เดิม