OneHealthในโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์_ความเป็นมาและความเป็นไป

.
จากการที่ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งปณิธานว่าจะเป็นองค์กรหนึ่งซึ่งจะยืนอยู่แถวหน้าของความพยายามปฏิรูปประเทศ โดยจะทุ่มเทอย่างสุดกำลังเพื่อสร้างสรรค์ระบบปัญญาแห่งชาติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ด้าน ประกอบด้วยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์-สาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม-ฐานทรัพยากร และด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร-ความมั่นคงทางอาหาร ในฐานะของสถาบันการศึกษาภายใต้นโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล เน้นพื้นที่ความรับผิดชอบในเขตภูมิภาค ภาคเหนือตอนล่าง-ภาคกลางตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท (ภาพที่ 1) อันเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่มีความเกี่ยวโยงถึงกันผ่านกลไกและกิจกรรมต่างๆ ด้วยการเชื่อมโยงศักยภาพทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลกับทุนทางสังคมและฐานทรัพยากรของท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้วิทยาเขต และนำไปสู่การพัฒนาสังคมในภูมิภาค
.
แนวคิดเรื่อง “One Health” หรือ “สุขภาพหนึ่งเดียว” อันเป็นชื่อร่วมสมัย ที่หมายความถึงการร่วมมือแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีของส่วนรวมทั้งมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนระหว่าง เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และกายภาพขององค์ประกอบต่างๆ อย่างเป็นพลวัตร และตระหนักว่ามนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว หากแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอันยิ่งใหญ่ และในแต่ละองค์ประกอบของระบบนิเวศล้วนมีกิจกรรมและหน้าที่ อันมีผลกระทบถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่กำลังเป็นแนวคิดซึ่งได้รับความสนใจ และได้ถูกนำมาบรรจุแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ.2556-2559) จึงถูกหยิบยกมาใช้เป็นแนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่โครงการจัดตั้งฯได้วางไว้
.
การเริ่มต้นของแนวคิด One Health ในโครงการจัดตั้งฯ จึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2556 และได้มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะเป็นแกนนำในการนำแนวคิด One Health ลงไปสู่การลงมือปฏิบัติของกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ ทั้งภายในโครงการจัดตั้งฯ และในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของโครงการจัดตั้งฯ ผ่านการทำงานและประสานงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ และพัฒนาไปสู่การจัดตั้งศูนย์สุขภาพหนึ่งเดียวภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ที่มีศักยภาพ คุณภาพ ตอบสนองต่อพันธกิจ และช่วยเชื่อมโยงวิทยาเขตนครสวรรค์เข้ากับชุมชนผ่านดำเนินงานร่วมกันในเรื่องสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อมของวิทยาเขตขึ้นมา (ภาพที่ 2)
.
ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ การขับเคลื่อนงานจึงได้เริ่มขึ้นผ่านการทำงาน ร่วมงาน และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น กรมปศุสัตว์ องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยมุ่งหวังการถักทอเครือข่ายและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันเพื่อนำไปสู่การบูรณาการงานอันมีประโยชน์แก่สังคมร่วมกันภายใต้แนวคิด One Health เป็นสิ่งสำคัญในเบื้องต้น ทั้งนี้ในกิจกรรมต่างๆ ได้มีการสอดแทรกแนวคิด One Health ที่อาจกล่าวได้ว่าประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1) ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ บนโลก และ 2) การทำงานร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพ และภาคส่วนในทุกระดับเพื่อมุ่งสู่การมีสุขภาพที่ดีในองค์รวม ลงไปผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในระหว่างการทำงานร่วมกัน ตัวอย่างกิจกรรมหรือการดำเนินงานที่กล่าวถึง ประกอบด้วย การออกหน่วยเกษตรเคลื่อนที่ ร่วมกับหน่วยงานรัฐภายในจังหวัดนครสวรรค์ การออกให้บริการควบคุมประชากรสุนัขและแมว และการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดนครสวรรค์ การออกพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 การร่วมกิจกรรมกับกลุ่มศิลปินผืนป่าตะวันตก การออกให้บริการสุขภาพแก่สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ของประชาชนผ่านคลินิกสุขภาพสัตว์เคลื่อนที่ การดำเนินโครงการวิจัยเรื่องการจัดการเชิงระบบเพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลิตภาพและการใช้ฐานทรัพยากรในการผลิตโคธรรมชาติต้นน้ำ-กลางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก การร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในพื้นที่ธรรมชาติ (อุทยานแห่งชาติปางสีดา/เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าผลิตภัณฑ์จากจระเข้ในระดับนานาชาติ เป็นต้น (ภาพที่ 3-5)
.
การคิดแบบแยกส่วนเป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการที่จะเปลี่ยนระบบแนวคิดในการทำงานที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นการทำงานที่คำนึงถึงความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่ต่างออกไปจากสิ่งที่เคยปฏิบัติ การก้าวออกมาจากกรอบที่คุ้นชินเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น วิธีจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างหนึ่ง คือ การเปิดใจในการทำงานร่วมกัน ซึ่งนั่นอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการที่ต่างกันออกไป คณะทำงานด้าน One Health ของโครงการจัดฯตั้ง ได้เลือกใช้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นกลยุทธ์ ในการทำให้เกิดการเปิดใจระหว่างภาคีเครือข่ายการทำงานต่างๆ โดยอยู่บนพื้นฐานของ การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเองและพึงปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อตนเองเป็นสำคัญ การทำงานร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ อาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะความสัมพันธ์แบบแนวราบที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร เพียงแต่อาจจะมีการผลัดกันนำในบางเรื่องหรือบางเวลา เมื่อไม่มีใครคอยควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ มันจึงเกิดความโกลาหลในตอนเริ่มต้น แต่ต่อมามันก็จะเกิดการจัดระเบียบลงตัว เป็นการก่อระเบียบขึ้นได้ด้วยตัวเอง (Self-organization) ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานที่ ดี ฮ็อคก ได้บัญญัติศัพท์เพื่อเรียกองค์กรที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า Chaordic อันมีที่มาจากการรวมคำว่า chaos (ไร้ระเบียบ) และคำว่า Order (มีระเบียบ) เข้าด้วยกัน
.
ตัวอย่างโครงการที่สะท้อนเรื่องดังกล่าวได้ดี คือ โครงการการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ณ ตำบลเขาทอง ซึ่งได้เริ่มจัดกันขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างชุมชนที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีการนำแนวคิด One Health มาประยุกต์ใช้ในการลงมือปฏิบัติ หน่วยงาน ภาคส่วนหรือองค์กรต่างๆ ที่เคยทำงานร่วมกันมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้จนมีความสัมพันธ์ที่ดีกันในระดับหนึ่งถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมโครงการ โดยมีเพียงจุดมุ่งหมายและหลักคิดที่ยึดถือร่วมกันอย่างหนักแน่นเป็นตัวนำ ความชุลมุนวุ่นวายเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในครั้งแรก คำถามต่างๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย อาทิเช่น จะใช้งบประมาณจากที่ไหน ใช้กำลังคนจากไหนบ้าง แล้วจะต้องทำอะไรกันบ้าง ภายใต้การทำงานที่ไม่มีการควบคุมอย่างชัดเจนนั้น คำตอบค่อยๆ ผุดออกมาท่ามกลางความโกลาหล จากคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง และค่อยก่อให้เกิดระเบียบวิธีการในการดำเนินงานเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายสำคัญ นั่นทำให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เพียงเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่ได้ทำร่วมกันในตอนนั้น แต่ยังรวมถึงงานที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย แน่นอนว่าในแต่ละงานหรือกิจกรรมต่อไปก็จะไม่มีรูปแบบการจัดการที่ตายตัว มีความเป็นพลวัตร และความโกลาหลก็จะเกิดขึ้นรอการเกิดระเบียบขึ้นอีกครั้ง กิจกรรมต่างๆที่ได้เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ประกอบไปด้วย การอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำวัคซีนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัขและแมวในพื้นที่ การเผยแพร่ให้ความรู้ผ่านวิทยุกระจายเสียงชุมชน การให้บริการควบคุมประชากรสุนัขและแมวด้วยวิธีการทำหมัน (ภาพที่ 6-8) ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายคงจะไม่มีเพียงแต่เท่านี้ เช่นเดียวกับองค์กรหรือผู้คนที่เกี่ยวข้องที่จะถูกชักชวนเข้ามาร่วมงานเพิ่มเติมตามแต่ละกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต จนถึงวันนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี ใช้ทรัพยากรจากหน่วยงานและกลุ่มคนต่างๆ ประกอบด้วย โครงการจัดตั้งฯ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครสวรรค์ อสม.ตำบลเขาทอง และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และยังคงมีการดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
.
งาน One Health ของโครงการจัดตั้งฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในเชิงพื้นที่ไว้ที่ระดับตำบล ด้วยเพราะเล็งเห็นว่าเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่มีองค์ประกอบเพียงพอสำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างกิจกรรมที่เกิดประโยชน์แก่สังคมภายใต้แนวคิด One Health กล่าวคือโครงการจัดตั้งได้พยายามที่จะไปทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในแต่ละตำบลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งนอกเหนือจากตำบลเขาทองแล้ว ปัจจุบันก็มีพื้นที่อื่นๆ ที่ได้เริ่มเข้าไปร่วมดำเนินการด้วยแล้ว อาทิเช่น ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ที่ไปร่วมสร้างระบบจัดการการเลี้ยงโคธรรมชาติในพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ไปร่วมการสร้างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชนเลี้ยงช้างชาวกะเหรี่ยง ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ภายใต้โครงการ อพ.สธ. เพื่อการอนุรักษ์เลียงผาที่เขาผาแรดโดยการมีส่วนร่วมจากชุมชน ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กับการขับเคลื่อนเพื่อสร้างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและเห็นถึงความเกื้อหนุนกันของสรรพสิ่ง ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้ร่วมสร้างแนวทางเพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือการเลี้ยงสัตว์ให้แก่ชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีบริบทที่มีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป เช่น เป็นชุมชนปศุสัตว์ เป็นชุมชนติดป่า หรือเป็นชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น และแน่นอนว่าไม่มีรูปแบบการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้ในการดำเนินงาน
.
ความสำเร็จของงาน One Health จะนำไปสู่การตอบความต้องการของโครงการจัดตั้งฯ ผ่านการทำงานที่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ 1) งานสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวิชาการและสถานที่ปฏิบัติ ตลอดจนสามารถสร้างรายวิชาที่ตอบสนองต่อนโยบายการผลิตบัณฑิตของโครงการจัดตั้งฯ 2) งานวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่อยู่บนฐานแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ตลอดจนเป็นการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมป้องกันโรคสัตว์สู่คนและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อสุขภาพที่ดีของส่วนร่วม และ 3) งานบริการวิชาการต่างๆ เช่น การให้บริการสุขภาพสัตว์ การอบรมให้ความรู้ประชาชนและเกษตรกร เป็นต้น (ภาพที่ 9)
.
เป็นความจริงที่ว่าการนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้นั้นไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมารองรับแนวคิดนั้นเป็นการเฉพาะ แต่เพื่อตอบความต้องการของโครงการจัดตั้งฯ ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น โครงการจัดตั้งฯ จึงได้ตัดสินใจสร้างอาคาร “คลินิกสัตว์วันเฮลท์” ขึ้นมา (ภาพที่ 10) โดยตั้งใจทับศัพท์คำว่า One Health มาใช้เป็นชื่อเรียกเพื่อเป็นประกาศเจตนารมณ์แก่สังคม รวมทั้งเป็นการเผยแพร่แนวคิดในอีกทางหนึ่ง และเล็งเห็นว่าปัจจุบันผู้คนนิยมเลี้ยงสัตว์ไว้สำหรับเป็นเพื่อนกันอย่างกว้างขวาง นั่นหมายถึงโอกาสสัมผัสกันระหว่างคนและสัตว์ที่อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกันและอาจส่งผลกระทบต่อกันทั้งในทางบวกและทางลบได้ การให้บริการแก่ชุมชนผ่านการทำงานของคลินิกสัตว์วันเฮลท์จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะถ่ายทอดแนวคิด One Health ออกไปสู่สังคมให้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่าย
คลินิกสัตว์วันเฮลท์เป็นสถานบริการสุขภาพสัตว์ที่ได้เปิดทำการขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ.2559 ซึ่งนอกจากจะสามารถให้บริการในส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ให้บริการสุขภาพสัตว์ ณ คลินิกที่ตั้ง 2) ให้บริการสุขภาพสัตว์นอกสถานที่ โดยใช้คลินิกเป็นฐานที่มั่น 3) ให้บริการรับปรึกษาปัญหาสุขภาพสัตว์ 4) ให้บริการชุมชนโดยทำงานร่วมกับเครือข่าย และ 5) ให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ ได้แล้ว อาคารคลินิกสัตว์วันเฮลท์ยังสามารถใช้เป็นฐานสำหรับการปฏิบัติงานด้าน One Health ในระยะเริ่มต้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับโครงการจัดตั้งฯ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
.
ในอนาคต การขับเคลื่อน One Health ของโครงการจัดตั้งฯจะมุ่งเน้นการถักทอเครือข่าย และขยายพื้นที่ทำงานเพิ่มเติม ตลอดจนรักษาการทำงานร่วมกับพื้นที่และภาคีเครือข่ายเดิม เพื่อส่งต่อแนวคิด One Health ออกไปเป็นวงกว้างยังชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของโครงการจัดตั้งฯ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของคลินิกสัตว์วันเฮลท์ และสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการ ทั้งการวิจัยพัฒนาและการสร้างรายวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตบัณฑิตของโครงการจัดตั้งฯ จนสามารถดำเนินการได้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างสมบูรณ์
.
ที่มา : วารสาร สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ ฉบับที่ 11 ปี 2560 หน้า 16-24