มาทำความรู้จักกับพาหะนำโรค #ลัมปีสกิน

มาทำความรู้จักกับพาหะนำโรค #ลัมปีสกิน กันครับ บทความดีๆ จาก ผศ.ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์
ช่วงนี้ … พบการระบาดของโรคติดเชื้อในวัวนมและวัวเนื้อ คือ โรคลัมปี #LumpySkinDisease หรือ #LSD เชื้อก่อโรคเป็นไวรัสวงศ์ poxvirus จากข่าวคือมีการระบาดไปมากกว่า 35 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ดังภาพที่ 1
วัวติดเชื้อนี้ผ่านสัตว์ขาปล้องดูดเลือด การศึกษาทั้งห้องปฏิบัติการและภาคสนาม แสดงให้เห็นว่า #แมลงวันคอกสัตว์ Stable fly โดยเฉพาะ Stomoxys calcitrans ที่พบการกระจายตัวทั่วโลก และมีการดูดเลือดวัวในเวลากลางวัน เป็นพาหะหลักนำเชื้อไวรัสก่อโรคนี้ รวมทั้งยังมีแมลงวันคอกม้าอีกสองชนิดที่พบบ่อยด้วย คือ Stomoxys sitiens และ Stomoxys indica
: แมลงวันคอกสัตว์ ออกหากินในเวลากลางวัน พบจำนวนมากช่วงเช้าไม่สาย และบ่ายก่อนค่ำ โดยเฉพาะพื้นดินที่มีหญ้าสูงและชุ่มชื้นถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ (ภาพที่ 2)
ความน่าสนใจ คือ แมลงวันคอกสัตว์จะเพิ่มจำนวนมากในช่วงฤดูร้อนและฝน [นั่นก็คือช่วงเวลานี้พอดี] นอกจากนี้ แมลงวันคอกสัตว์ทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถดูดเลือดได้ทั้งคู่และมีระยะการบินไกล 21-28 กิโลเมตรใน 24 ชม. และหากมีแรงลมช่วยจะทำให้บินได้ไกลมากขึ้น
แม้จะกัดเจ็บ แต่ด้วยระยะเวลาที่ไม่นานนัก รวมทั้งการหาเลือดซ้ำจากโฮสต์ตัวอื่น จึงทำให้แมลงวันคอกสัตว์เป็นพาหะของโรคนี้ มากกว่าแมลงต้องสงสัยอื่นๆ ซึ่งก็มีรายงานการพบเชื้อ คือ 1) ยุงลายบ้าน Aedes aegypti 2) เหลือบ Tabanid fly และ 3) เห็บแข็ง Hard tick (ภาพที่ 3)
ดังนั้น เพื่อการป้องกันและควบคุมการระบาดร่วมกับการฉีดวัคซีนซึ่งจะมาถึงในวันนี้ คือ การไล่แมลงวันคอกสัตว์ด้วยยาไล่แมลง ไม่ว่าจะเป็น ไพริทริน ไซเปอร์เมนทริน และการทำลายทั้งมูลและความสะอาดเรียบร้อยของโรงเรือน จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ … ที่สำคัญการเคลื่อนย้ายวัว ต้องทำด้วยความปลอดเชื้อ สืบข้อมูลหรือไม่นำวัวไปใกล้แหล่งระบาด ในระยะ 50 กิโลเมตร
#cattledisease อย่างน้อยยังดีที่ยังไม่ใช่ #zoonosis ยังไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน … การรับประทานอาหารปรุงสุก ร้อน ก็ช่วยฆ่าเชื่ออื่นๆ ด้วยเช่นกัน