อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever: ASF) – ภัยที่คืบคลานเข้าใกล้
.
หนึ่งในประเด็นร้อนของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในประเทศไทย ตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาเห็นจะไม่พ้นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือที่มักได้ยินเรียกขานกันสั้นๆเป็นตัวย่อว่า “ASF” จากเดิมที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลังจากมีรายงานการระบาดเกิดขึ้นในจีนตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และการระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง แถมการระบาดดังกล่าวยังมีทิศทางลงมาทางใต้ขยับใกล้บ้านเราเข้าไปทุกที จะบอกว่าโรคดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไกลตัวเห็นทีจะไม่ได้อีกต่อไป
.
ASF เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุกรมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ความรุนแรงของโรคดังกล่าวส่งผลให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 80-100 การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้กับสุกรทุกกลุ่ม ทุกเพศ และทุกช่วงอายุ สุกรที่ติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยเริ่มจากซึม ไม่ค่อยกินอาหาร มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำตามลำตัว ไอ หอบ หายใจลำบาก และตายในที่สุด ความน่ากลัวอีกอย่างของ ASF ก็คือ จนถึงทุกวันนี้เรายังคงไม่มีวัคซีนสำหรับใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
.
แม้ ASF จะไม่ติดต่อถึงคน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากความสูญเสียโดยตรงในภาคการผลิตสุกรแล้ว การระบาดที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบออกไปในห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้อง เช่นอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ความมั่นคงด้านอาหารของผู้คนโดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสุกร เป็นต้น
.
ASF สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสกับสุกรที่ติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อมีความทนทานค่อนข้างสูงสามารถคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน ในเนื้อหมูแปรรูป เช่น แฮม เนื้อหมักเกลือ เชื้ออาจอยู่ได้นานนับ 100 วัน
.
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตหลายครั้ง การติดต่อข้ามแดนสามารถเกิดขึ้นได้ ข้อสันนิษฐานสำหรับเหตุการณ์เหล่านั้นก็คือ การระบาดข้ามแดนดังกล่าวมาจากการเคลื่อนย้ายขนส่งจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้หมูป่าในธรรมชาติก็ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถแพร่กระจายโรคออกไปในวงกว้างได้ และแม้ว่าไทยกับจีนจะไม่มีพรมแดนติดต่อกันโดยตรง แต่ไทยกับจีนมีการเคลื่อนย้ายผู้คนไปมาหาสู่กันผ่านกิจกรรมต่างๆเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ ASF จึงถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของประเทศไทยที่จะสกัดกั้นโรคดังกล่าวให้ได้ ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน
.